2024-12-27

หมอแฉดื่มน้ำอัดลมแล้วเตี้ย




 

หมอแฉ “น้ำอัดลม” ทุกชนิดสุดอันตราย ทำให้ “อ้วน-ผอม ฟันผุ จนเตี้ย กระดูกสึก” ส่วนชนิดน้ำตาล 0% เสี่ยงโรคไม่แพ้กัน เพราะอัดแก๊สทำท้องอืด ดื่มแล้วเตี้ย ไม่ช่วยลดความอ้วนแต่ทำให้ขาดสารอาหาร พร้อมเผยผลสำรวจโรงเรียนที่มีน้ำอัดลมขาย เด็กดื่มมากกว่าโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม 7.3 แนะเด็กควรดื่มน้ำหวานที่มีส่วนผสมน้ำตาล ไม่เกิน 5% แถมเตือนระวังขนมเยลลี่ นมเปรี้ยว นมรสหวานน้ำตาลสูงปรี๊ด

วันนี้ (10 ก.ค.) ที่โรงเรียนวิชูทิศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จัดงาน “แต้มสีสันโรงเรียนอ่อนหวาน 7 วัน 7 สี ไม่มีน้ำอัดลม” โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในฐานะโฆษกเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า น้ำอัดลมคือบ่อเกิดของโรคหลายชนิด อาทิ โรคอ้วน โรคผอม โรคฟันผุ กระดูกกร่อน โดยในน้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาล 10-14 ช้อนชา ทำให้ทุกกระป๋องเพิ่มโอกาสเป็นโรคอ้วนได้ 1-2% ประกอบกับเด็กในปัจจุบันมักไม่ค่อยออกกำลังกายแต่ติดเกม โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ยิ่งทำให้มีไขมันสะสมและเป็นโรคอ้วนได้ง่าย
นพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า ส่วนน้ำอัดลมที่โฆษณาว่ามีน้ำตาล 0% ยิ่งเป็นโทษต่อร่างกาย ทำให้เป็นโรคผอม เพราะขาดสารอาหาร เนื่องจากเครื่องดื่มที่ไม่มีสารอาหารใดๆ มีแต่แก๊ส เมื่อดื่มเข้าไปจะลดความหิว ท้องอืด ไม่อยากอาหาร ส่วนคนอ้วนที่คิดว่าดื่มน้ำอัดลมประเภทนี้ จะลดความอ้วนได้ เป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากหากดื่มน้ำอัดลมชนิดนี้คนอ้วนจะกลายเป็นคนอ้วนเตี้ยขาดสารอาหาร เพราะกรดคาบอนิคในน้ำอัดลม ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกจากร่างกาย โดยเฉพาะวัยรุ่น 9-14 ปี ต้องการแคลเซียมเพื่อสร้างความเติบโตมากที่สุด ถ้าดื่มน้ำอัดลมมาก จะขับแคลเซียมออกจากร่างกายจนหมด จึงสูงไม่เต็มที่ และเกิดภาวะพร่องแคลเซียม เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จะเป็นโรคกระดูกคดงอ สึกกร่อนเร็ว

“น้ำอัดลมที่โฆษณาว่า มีน้ำตาล 0% ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เครื่องดื่มเหล่านี้อาจไม่เห็นผลในระยะสั้นแต่จะมีผลในระยะยาว โดยเด็กที่มีปัญหาด้วยโรคอ้วนส่วนมาก เมื่อสอบประวัติ พฤติกรรมการกิน ก็พบว่า ชอบดื่มน้ำอัดลมปริมาณมาก และไม่ดื่มนม หรือเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ โทษของการกินน้ำอัดลม ทำให้อ้วนผอม ฝันผุ จนเตี้ย กระดูกสึก การดื่มน้ำอัดลมเป็นเพียงการตอบสนองความสุขในการบริโภคเท่านั้น แม้แต่ความเชื่อที่ว่าน้ำอัดลมช่วยชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียจากการออกกำลังกาย แท้จริงแล้วกลับไม่ได้เกลือแร่ใดๆ เลย เพราะในน้ำอัดลมมีเกลือแร่น้อยมาก ดังนั้น หากต้องการความสดชื่น นอกจากน้ำเปล่าที่ถือว่ามีประโยชน์ที่สุดแล้ว น้ำผลไม้ที่ทุกๆ 100 ซีซี มีน้ำตาลไม่เกิน 5% ก็สามารถเลือกดื่มได้”นพ.สุริยเดว กล่าว

นพ.สุริยเดว กล่าวอีกว่า ขณะนี้เด็กที่เข้ารักษาเพราะน้ำหนักตัวเกิน หายใจไม่ออก นอนไม่ได้ ไปโรงเรียนไม่ได้ มากกว่าเดิม 2-3 เท่า จากพฤติกรรมชอบกินหวาน อาหารมัน เค็ม ไม่ออกกำลังกาย ซึ่งการรักษาต้องใช้เวลานาน เพราะต้องปรับพฤติกรรม และใช้หมอเฉพาะทาง 4-5 คน ช่วยกันดูแล สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลมาก ดังนั้น เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานจึงเห็นว่า โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ควรพิจารณาขยายนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม เพื่อคุ้มครองสุขภาพของเด็กๆ

ด้าน ผศ.ทพญ.ปิยะนารถ จาติเกตุ นักวิชาการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า จากการสำรวจการบริโภคเครื่องดื่มของนักเรียน จากกลุ่มตัวอย่าง 9,300 คน ในโรงเรียน 14 จังหวัด แบ่งเป็นนักเรียน 8,400 คน ผู้ปกครอง 700 คน ครู 273 คน น่าตกใจที่พบนักเรียนในโรงเรียนที่ขายน้ำอัดลม ดื่มน้ำอัดลมบ่อยกว่านักเรียนโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมถึง 7.3 เท่า ซึ่งนักเรียนมัธยมจะดื่มน้ำอัดลมมากกว่าประถม 3.9 เท่า หญิงดื่มบ่อยกว่าชาย 1.4 เท่า นอกจากน้ำเปล่าแล้วหากเป็นโรงเรียนในกรุงเทพฯ ที่มีน้ำอัดลม เด็กจะดื่มน้ำอัดลมมากกว่าเครื่องดื่มอื่น 37.3% ส่วนโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมไม่มีเด็กคนไหนตอบว่าดื่มน้ำอัดลมเลย

“หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดื่มน้ำอัดลมของนักเรียน ส่วนหนึ่งเกิดจากการขายน้ำอัดลมในโรงเรียน ซึ่งผู้ขายเครื่องดื่มในโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมส่วนใหญ่ คือ สหกรณ์หรือร้านค้าของโรงเรียน 44% ส่วนโรงเรียนที่มีน้ำอัดลม มีทั้งแม่ค้าและสหกรณ์หรือร้านค้าของโรงเรียน 47.2% โดยโรงเรียนปลอดและไม่ปลอดน้ำอัดลมได้รับเงินสนับสนุนจากผู้จำหน่ายเครื่องดื่ม โรงเรียนไม่ปลอดน้ำอัดลมได้ถึง 81.3% โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมได้เพียง 59.3% แต่หากโรงเรียนจะเลิกขายน้ำอัดลม มีโรงเรียนเพียง 26.8% ที่บอกว่าจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียน” ผศ.ทพ.ปิยะนารถ กล่าว

ขณะที่ นางเสาวนีย์ เสือพันธ์ ผอ.โรงเรียนวิชูทิศ กล่าวว่า นโยบายของโรงเรียนวิชูทิศนอกจากจะไม่จำหน่ายน้ำอัดลมในโรงเรียน ยังไม่อนุญาตให้เด็กนำน้ำอัดลมเข้ามาดื่มในโรงเรียนด้วย ทำให้นักเรียนประมาณ 1,900 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงม.6 ไม่ติดน้ำอัดลม สอดคล้องกับนโยบายของ กทม.ที่รณรงค์ให้โรงเรียนในสังกัดปลอดน้ำอัดลม และโรงเรียนยังมีน้ำทางเลือกเป็นน้ำผลไม้ น้ำสมุนไพร ที่ควบคุมความหวานจำหน่ายแทน และรณรงค์ให้ดื่มน้ำเปล่าจากตู้น้ำดื่มฟรีด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากงานวิจัย รายงานข้อมูลน้ำตาลในขนมและเครื่องดื่ม ของกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีการจำแนกปริมาณน้ำตาลอย่างละเอียด ในหมวดขนมชนิดเยลลี่นิ่ม มีส่วนผสมคาราจีแนนหรือเจลาติน ที่มีการโฆษณาว่าสามารถกินแล้วไม่อ้วนได้นั้น พบว่า เจเล่ไลท์ มีปริมาณน้ำตาลถึง 12.75 ช้อนชา ไดนาแฟนซี มีปริมาณน้ำตาล 15 ช้อนชา

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในหมวดของนมเปรี้ยว ขนาด 450 มิลลิลิตร ยี่ห้อ เมจิ ไพเกน มีปริมาณน้ำตาล 14.63 ช้อนชา บีทาเก้น รสนมสด 12.95 ช้อนชา, บีทาเก้น รสส้ม 12.93 ช้อนชา, เมจิ ไขมันต่ำ รสผลไม้รวม รสสตรอเบอรี่ รสส้ม ดัชมิลล์ รสส้ม รสสตรอเบอรี่ รสบลูเบอรี่ รสสับปะรด ชนิดละ 9 ช้อนชา ส่วนนมเปรี้ยวขนาด 180 มิลลิลิตร ยี่ห้อ คันทรีเฟรชรสบลูเบอรี่ มีปริมาณน้ำตาล 5.18 ช้อนชา ยี่ห้อไอวี่ รสส้ม ไฮแคลเซียมรสธรรมชาติ รสสตรอเบอรรี่ รสบลูเบอรี่ มีน้ำตาล 4.95 ช้อนชา

ทั้งนี้ งานวิจัยยังพบว่า นมรสหวาน ที่มีปริมาณน้ำตาลมาก เช่น ไมโล เนสท์เล่ ขนาด 450 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 8.77 ช้อนชา นมหมีแอดวานซ์ รสช็อคโกแลต 6 พลัส ปริมาณ 200 มิลลิลิตร 8.4 ช้อนชา นมถั่วเหลือง ไวตามิ้ลค์ ชนิดขวด มีปริมาณน้ำตาล 6 ช้อนชา แลคตาซอย เอ็กซ์ตร้า 300 ยูเอสที และแลคตาซอย เอ็กซ์ตร้า และชนิดขวด 5.25 ช้อนชา ยูเอสที ไวตามิลค์ ขนาด 250 มิลลิลิตร 5 ช้อนชา และในส่วนของโยเกิร์ต พบว่า เมจิ รสวุ้นมะพร้าว ปริมาณ 150 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 9.28 ช้อนชา เมจิ รสธัญญาหาร ขนาด 150 มิลลิลิตร มี 8.5 ช้อนชา ขณะที่น้ำอัดลมกลุ่มน้ำดำ ขนาด 325 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 8-8.5 ช้อนชาเท่ากัน


ขอบคุณบทความดีๆจาก : ผู้จัดการออนไลน์ & ชวนกินดอทคอม
NATUI Officially 2008-11-08 18:53:26 13534