2024-11-24

การเปลี่ยนแปลงนโยบายของกระทรวงอิมมิเกรชั่นเกี่ยวกับข้อกำหนดเรื่องความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเชฟ




เนื่องจากในระยะหลายปีที่ผ่านมานี้กระทรวงอิมมิเกรชั่นได้เปิดโอกาสให้เจ้าของธุรกิจต่างๆในประเทศออสเตรเลียสามารถสปอนด์เซอร์ผู้ชำนาญการในวิชาชีพต่างๆเข้ามาทำงานในประเทศออสเตรเลียได้อย่างค่อนข้างสะดวกและไม่ยุ่งยากนัก ดังนั้น จึงมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศออสเตรเลียเป็นจำนวนมากหลายหมื่นคนในแต่ละปี และก็มีเหตุการณ์ที่นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างไม่สมควร เช่น ให้เงินค่าจ้างไม่ถูกต้องตามสัญญา ทำงานเกินกว่ากำหนดมาตรฐาน ไม่ให้สิทธิต่างๆตามกฎหมายแรงงานของประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น ดังนั้นกระทรวงอิมมิเกรชั่นจึงได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้อง และได้ผลสรุปหลายประการ ที่สำคัญคือ ทางกระทรวงอิมมิเกรชั่นสรุปว่าเหตุที่นายจ้างสามารถกระทำการไม่สมควรและไม่ถูกต้องกับลูกจ้างได้ก็เพราะปัญหาเรื่องความไม่รู้ในภาษาอังกฤษ ดังนั้น กระทรวงอิมมิเกรชั่นจึงกำหนดนโยบายให้ผู้ที่ยื่นขอวีซ่าเพื่อมาทำงานในกลุ่มวิชาชีพช่างในสาขาต่างๆ(Trade) จะต้องมีผลการสอบ IELTS โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 4.5 โดยนโยบายนี้ไม่ได้กระทบกับผู้ที่ทำงานในตำแหน่งเชฟเพราะอาชีพเชฟไม่ได้อยู่ในกลุ่มวิชาชีพช่างสาขาต่างๆ (Trade)

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอิมมิเกรชั่นได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมานี้ โดยกำหนดเพิ่มมาตรฐานการใช้ภาษาอังกฤษจะผลการสอบ IELTS โดยเฉลี่ย 4.5 ขึ้นเป็น 5.0 และยังออกข้อกำหนดพิเศษให้ตำแหน่ง Chef & Head Chef จะต้องมีผลการสอบ IELTS โดยเฉลี่ย 5.0 ด้วย

ปัญหา

การกำหนดให้เชฟ หัวหน้าเชฟ และกุ๊ก จำเป็นจะต้องมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษโดยต้องสอบ IELTS ให้ได้ 5.0 นั้น เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ไม่เพียงแต่ของไทยเท่านั้น แต่แทบจะทุกชาติ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อิตาเลียน ฯลฯ เพราะเชฟ หัวหน้าเชพ หรือกุ๊กที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่ต้องการนั้นแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอยู่ในตลาดแรงงานเลย หากมี ก็จะไม่มีความสามารถในการเป็นเชฟ หัวหน้าเชฟ หรือกุ๊กในระดับที่เหมาะสมตำแหน่งที่ต้องการเพื่อธุรกิจ ปัญหาเบื้องต้น ที่เกิดทันทีคือ ธุรกิจภัตตาคารร้านอาหารต่างๆจะขาดบุคคลากรที่สำคัญที่สุดในกิจการในการทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจ เพราะอาชีพเชฟ กุ๊กเป็นอาชีพขาดแคลนในประเทศออสเตรเลียอยู่แล้ว การจะจ้างจากตลาดแรงงานของออสเตรเลียก็เป็นเรื่องที่ลำบากและแทบจะเป็นไปไม่ได้ และตอนนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะนำมาจากต่างประเทศได้เพราะปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษที่กำหนดนี้

ปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นแล้วก็คือ ธุรกิจร้านอาหารที่ได้เป็นสปอนด์เซอร์ให้เชฟ หัวหน้าเชฟ หรือกุ๊ก เข้ามาทำงานในประเทศออสเตรเลียอยู่แล้ว เมื่อครบกำหนดวีซ่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน และนายจ้างต้องการจะจ้างต่อไป จะต้องสอบ IELTS ให้ได้ผลภาษาอังกฤษ 5.0 โดยไม่มีข้อยกเว้นเช่นกัน และปัญหานี้ยังครอบคลุมไปถึงบรรดาเชฟ หัวหน้าเชฟ ที่ได้ยื่นขอวีซ่าเอาไว้ก่อนที่นโยบายจะเปลี่ยนแปลง ทุกคนจะต้องผ่านการสอบภาษาอังกฤษเช่นกัน ซึ่งหากกลุ่มเชฟ หัวหน้าเชฟเหล่านี้ไม่สามารถสอบผ่านได้ ก็หมายถึงว่าจะถูกปฏิเสธวีซ่าและธุรกิจจะเกิดความเสียหายอย่างมากมาย

ข้อคิดเห็น

- การกำหนดนโยบายให้ลูกจ้างต้องสอบภาษาอังกฤษผ่านในระดับ 5.0 คือในระดับ Vocational Level นี้เป็นนโยบายที่อาจจะเหมาะสมสำหรับงานอาชีพบางประเภท แต่สำหรับอาชีพ เชฟ หัวหน้าเชฟ และกุ๊ก นั้น ไม่มีความจำเป็นในระดับนี้ เพราะการทำงานไม่ได้จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับร้านอาหารต่างชาติ เช่น ไทย ซึ่งจะมีพนักงานอื่นๆที่รู้สองภาษาช่วยในสิ่งที่จำเป็นได้อยู่แล้ว

- สำหรับการที่นายจ้างบางคน บางชาติ ฉวยโอกาสเอาเปรียบในการจ้างงานลูกจ้างจากต่างชาติที่ไม่มีพื้นฐานในการใช้ภาษาอังกฤษนั้น เป็นเรื่องที่แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเพียงจำนวนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับนายจ้างที่ดี มีคุณธรรมและจ้างงานอย่างยุติธรรม และอย่างไรก็ตาม เมื่อลูกจ้างเข้ามาทำงานแล้ว ก็จะมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องสิทธิต่างๆของตนจากบุคคลอื่นในกลุ่มเชื้อชาติของตน โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนรู้เลย ปัจจุบันนี้ กลุ่มเชื้อชาติต่างๆมีสื่อช่วยในการกระจายข่าว ประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆอย่างมากมาย หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายอิมมิเกรชั่น หรือกฎหมายแรงงานต่างๆ

- กระทรวงอิมมิเกรชั่นเองได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆมานานพอสมควร และได้มีการควบคุมนายจ้างอย่างเข้มงวด ในแต่ละปี กระทรวงอิมมิเกรชั่นจะมีการส่งแบบฟอร์มสอบถาม การเยี่ยมเยียนนายจ้างและลูกจ้าง นอกจากนี้กฏหมายการลงโทษนายจ้างทีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็ค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้ว นายจ้างทุกคนจะได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว

- ในการยื่นขอวีซ่าถาวร(พีอาร์)ประเภทนายจ้างเป็นสปอนด์เซอร์ กฏหมายกำหนดเรื่องภาษาอังกฤษไว้เช่นกัน แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นยืดหยุ่นได้พอสมควร ดังนั้น กระทรวงอิมมิเกรชั่นน่าจะได้กำหนดนโยบายให้มีการยืดหยุ่นผ่อนปรนในบางอาชีพ เช่น เชฟ หัวหน้าเชฟ หรือกุ๊ก สำหรับระดับของการใช้ภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน

- ในปัจจุบันนี้ รัฐบาลออสเตรเลียมีความกังวลเรื่องอัตราการว่างงานในออสเตรเลียที่สูงขึ้น เงินหมุนเวียนที่ลดลง หากธุรกิจร้านอาหารนานาชาติต้องประสบกับปัญหาขาดเชฟ หัวหน้าเชฟและกุ๊กจนไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ จำนวนคนว่างงานจากธุรกิจที่ปิดตัวลงซึ่งอาจจะรวมทั้งเจ้าของธุรกิจร้านอาหารด้วยก็จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รายได้หลักอย่างหนึ่งของออสเตรเลียก็คือด้านการท่องเที่ยว ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดขายของประเทศก็คือวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาหารก็เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของประเทศ หากประเทศออสเตรเลียไม่สามารถนำเข้าเชฟ หัวหน้าเชฟ กุ๊กที่มีคุณภาพสูงจากนานาประเทศ มาตรฐานและคุณภาพของร้านอาหารที่หลากหลายวัฒนธรรมก็จะลดลงหรือหมดไป ย่อมจะกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศและรายได้ของคนออสเตรเลียในส่วนรวมอย่างแน่นอน

สรุป

 

กฎหมายและนโยบายอิมมิเกรชั่นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ตามสภาพการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ดังนั้น หากกฎหมายหรือนโยบายใดที่อาจจะส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายโดยภาพรวมก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้จากการชี้แจง ชี้แนะ หรือผลักดัน ของกลุ่มหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบนั้นๆ ในกรณีนี้ หากกลุ่มนักธุรกิจร้านอาหารไทยทั่วประเทศออสเตรเลียจะได้มีความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมแรงกันหาหนทางที่จะแก้ไขกฎหมายและนโยบายนี้อย่างเข้มแข็งและจริงจัง โดยอาจจะขอความร่วมมือช่วยเหลือสนับสนุนผลักดันอย่างเต็มที่จากภาครัฐของไทย และจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของออสเตรเลีย ก็อาจจะมีผลทำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนโยบายไปเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษของเชฟ หัวหน้าเชฟ และกุ๊ก ไปในทางที่ดีขึ้นก็ได้

เนื่องจากผลกระทบจากการเปลื่ยนแปลงกฎดังกล่าว ทางสมาคมร้านอาหารไทย จึงต้องการช่วยเหลือ และรวบรวมรายชื่อผู้เดือดร้อน จากการเปลื่อนแปลงกฎในครั้งนี้ โปรดติดต่อขอลงรายชื่อที่ info@traa.com.au or 0414 364 488


NATUI Officially 2009-05-29 00:24:19 10722