2024-11-15

สอ เศรษฐบุตร ตำนานดิกชันนารีไทย






ถ้าพูดถึงดิกชันนารีไทย หรือพจนานุกรมไทย-อังกฤษ หรือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงชื่อของ สอ เสถบุตร

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางพรีมา พับบลิชชิง ร่วมกับ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานหวนรำลึกตำนานผู้สร้าง พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เล่มแรก ของประเทศไทย กว่า 4 ทศวรรษ ของ สอ เสถบุตร

"สอ เสถบุตร" ถือเป็นบุคคลตัวอย่างของผู้ไม่ท้อถอย เปี่ยมด้วยคุณภาพที่กลั่นจากอัจฉริยภาพทางภาษา

และมีความมุ่งมั่นเพียรพยายามในการสร้างสรรค์พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย อันทรงคุณค่าและมีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ รวมทั้งเป็นต้นแบบของพจนานุกรมในรุ่นต่อๆ มา โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นพจนานุกรมที่ยอดเยี่ยมเป็นที่นิยมสูงสุดของไทย

คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก สอ เสถบุตร ในฐานะผู้แต่ง พจนานุกรม (ไทย-อังกฤษ/อังกฤษ-ไทย) แต่เพียงอย่างเดียว เพราะถือเป็น "งานแห่งชีวิต" ของสอ เสถบุตร

แต่นั่นไม่ใช่งานชิ้นเดียวของท่าน

สอ เสถบุตร มีชีวิตที่แปลกและน่าศึกษา มีเพียงไม่กี่คนที่ทราบว่า บุรุษผู้นี้เป็นวิศวกร โดยการศึกษาเล่าเรียนด้วยทุนคิงสกอลาร์ชิพ เป็นเจ้ากรมเลขาธิการองคมนตรีในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นนักโทษการเมืองสมัยประชาธิปไตยเริ่มก่อตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยความนิยมของประชาชนชาวธนบุรี และเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ด้วยใจรักและพรสวรรค์ในการประพันธ์

ลักษณะเด่นของ สอ เสถบุตร ไม่ได้อยู่ที่ความเจนจัดในแขนงวิชาต่างๆ หากอยู่ที่ความไม่ย่อท้อต่อพรหมลิขิต เมื่อถูกชะตากรรมเล่นงาน ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์และความยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างเข้มแข็ง ทำให้ผลงานแห่งชีวิตของ สอ เสถบุตร มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาจนถึงทุกวันนี้

สอ เสถบุตร เกิดเวลาเที่ยง ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 เป็นบุตรของ นายสวัสดิ์ กับ นางเกษร เศรษฐบุตร เริ่มหัดอ่านเขียนภาษาไทยจากแม่ครูชุ่ม และไปเรียนต่อที่โรงเรียนสุขุมมาลัยใกล้ๆ บ้าน ต่อมา พ.ศ.2458 ได้เข้าเรียนชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

เมื่ออายุได้ 15 ปี ต้องกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากบิดาเสียชีวิตจากไข้จับสั่น

สอ เศรษฐบุตร เข้าสอบชิงทุนคิงสกอลาร์ชิพ ได้เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ไปเรียนที่ลอนดอน ในปี พ.ศ.2464

พ.ศ.2469 จึงเดินทางกลับมาพร้อมใบปริญญาเกียรตินิยม B.S.c. (HONS) ทางธรณีวิทยาและประกาศนียบัตร F.G.S. ในสาขาวิศวกรรม ศาสตร์ เป็นคนแรกของประเทศไทย

เมื่อกลับมาได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยา ในกรมโลหกิจและภูมิวิทยา

นอกจากนั้นยังได้ทำหนังสือพิมพ์ "บางกอกการเมือง" และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ

ต่อมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้อ่านบทความของ สอ เศรษฐบุตร ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Dailymail แล้วพอพระทัย จึงให้มาถวายงานใกล้ชิด ทำหน้าที่เป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร และขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองราชเลขาธิการองคมนตรี ในปี พ.ศ.2473-2474

หลังการปฏิวัติของคณะราษฎร สอ เศรษฐบุตร จึงได้ลาออกจากราชการ และถูกจับกุมในเวลาต่อมาพร้อมกับคนที่เคยทำหนังสือพิมพ์ "กรุงเทพเดลิเมล์" ในข้อหาร่วมกันเป็นตัวการพิมพ์ใบปลิวเข้าข้างพวกกบฏ (กบฏบวรเดช) และถูกตัดสินโทษให้จำคุกตลอดชีวิตในฐานกบฏ

ในระหว่างอยู่ในคุกบางขวาง แดน 6 ที่ห้องขังหมายเลข 38 แล้ววันหนึ่ง เขาก็รับทราบข่าวที่บั่นทอนความหวังที่จะได้รับการปล่อยตัว คือ ข่าวการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สอ เศรษฐบุตร จึงใช้เวลาและความรู้ของเขาให้เกิดเป็นรายได้ ด้วยงานเขียน Dictionary

งานเขียนพจนานุกรมนี้ต้องแอบทำไม่ให้ผู้คุมตรวจจับได้ มารดาของ สอ เศรษฐบุตร เป็นคนจัดการหาตำรา และเครื่องเขียนต่างๆ มาให้ นักโทษการเมืองต่างให้ความร่วมมือ โดย สอ เศรษฐบุตร เป็นผู้บอกคำศัพท์จากมันสมองออกมาอย่างรวดเร็ว อีกคนมีหน้าที่จดลงสมุดด้วยดินสอ อีกฝ่ายทำการตรวจทานและคัดลอกใหม่ให้สะอาดสวยงาม พร้อมที่จะนำออกตีพิมพ์ ใต้เพดานที่ถูกเจาะเป็นช่องสำหรับเก็บของ เวลาในแต่ละวันจัดไว้อย่างดี ในตอนเช้าเริ่มงานเขียนพจนานุกรมตั้งแต่ 07.30 น. พักรับประทานอาหาร บ่ายเริ่มเขียนอีกครั้ง 14.30-17.00 น.

เมื่อเขียนมาได้ถึงตัว S วันหนึ่งมีคำสั่งให้ย้ายนักโทษทางการเมืองทั้ง 70 คน ไปที่เกาะตะรุเตา

ที่เกาะตะรุเตาผู้คุมอนุญาตให้ปลูกกระท่อม สอ เศรษฐบุตร เลือกปลูกกระท่อมอยู่คนเดียวทำให้สะดวกขึ้นมากในการเขียนต้นฉบับพจนานุกรมฉบับห้องสมุด เมื่อเขียนต้นฉบับนี้เสร็จจึงจ้างนักโทษการเมืองคนอื่นๆ คัดลอกลงในสมุดด้วยค่าจ้างเล่มละ 1 สลึง และลงมือเขียนฉบับตั้งโต๊ะต่อพัชรพิมพ์ เสถบุตร

วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2486 นักโทษการเมืองต้องย้ายไปที่เกาะเต่า ในระหว่างการเคลื่อนย้ายนี้มีการแวะรอรถไฟที่สถานี นักโทษได้เห็นอักษรไทยที่แปลกไป อันเกิดจากแนวคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ยกเลิกพยัญชนะที่มีรากจากบาลีสันสกฤตออก

และจุดนี้ทำให้ สอ เศรษฐบุตร ได้รู้ว่า ชื่อบนปกพจนานุกรมที่พิมพ์จำหน่ายของเขาได้เปลี่ยนไปเป็น "สอ เสถบุตร"

จึงได้ยึดชื่อนี้มาตลอดไม่ได้เปลี่ยนกลับ

จนกระทั่ง 20 ตุลาคม พ.ศ.2487 จึงได้รับการปล่อยตัว เมื่อมีการขอพระราชทานอภัยโทษ ในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกเหนือจากพจนานุกรม สอ เสถบุตร ในระหว่างที่อยู่ในคุกบางขวางยังเขียนบทความไปลงหนังสือ "บางกอกไทมส์" หนังสือนวนิยาย "พ.ศ. 2481" บันทึกอัตประวัติ "จำเลยสารภาพ" และบทความที่เขียนไปลงเป็นประจำในหนังสือ "น้ำเงินแท้" ก็ล้วนแต่ถูกเขียนจากในคุกส่งออกมาสู่ผู้อ่าน

นอกจากนั้นยังเคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ "ศรีกรุง" ตามข้อเสนอของ นายมานิต วสุวัต ต่อมาร่วมกันตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้นชื่อว่า Liberty และเป็นบรรณาธิการ ต่อมายังได้ออกนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ Leader ที่มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในฉบับเดียว โดยคอลัมน์ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนของภาษาเป็นที่สนใจอย่างสูง เพราะ สอ เสถบุตร ตอบปัญหาให้ผู้อ่านที่สงสัยเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ

สอ เสถบุตร เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองลงสมัครรับเลือกผู้แทนราษฎร จังหวัดธนบุรี ในนามพรรคก้าวหน้า ซึ่งก่อตั้งร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน์ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร นายหลุย คีรีวัต ฯลฯ ต่อมารวมกับพรรคประชาธิปไตยแล้วใช้ชื่อว่า "พรรคประชาธิปัตย์"

เมื่อ สอ เสถบุตร อายุได้ 47 ปี จึงแก้ไขปรับปรุงพจนานุกรมของเขาและจัดพิมพ์จำหน่ายเองทั้งหมด

ในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะซื้อพจนานุกรมฉบับตั้งโต๊ะของสอที่กำลังขาดตลาด

สำนักพิมพ์หลายแห่งเมื่อทราบเข้า จึงพากันมาติดต่อขอเป็นผู้พิมพ์ สอ เสถบุตร ได้เลือกร้านวรรธนะวิบูลย์เป็นผู้จัดจำหน่าย โดยเขาเป็นผู้จัดพิมพ์เอง

ทำให้ได้รับเงินก้อนใหญ่มาปรับปรุงโรงพิมพ์ หนังสืออื่นที่ สอ เสถบุตร เขียนในช่วงนั้น ได้แก่ "ไปนอก" "อังกฤษสำเร็จรูป"

ในปี พ.ศ.2507 สอ เสถบุตร เขียนพจนานุกรมอีกครั้งโดยเขียนที่บ้านชายทะเล เดือนมีนาคม 2508 จึงเขียนและพิมพ์พจนานุกรม New Model Thai - English Dictionary (Library Edition) เสร็จพร้อมออกจำหน่าย และปีต่อมาพจนานุกรม New Model English - Thai Dictionary (Desk Edition) ก็ออกตามมา และได้จำหน่ายลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้กับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชในที่สุด

โดย สอ เสถบุตร เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2513
นางพัชรพิมพ์ เสถบุตร ลูกสาวของ สอ เสถบุตร กล่าวว่า นอกเหนือจากพจนานุกรม อยากให้คนไทยรู้ว่า สอ เสถบุตร เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมือง เป็นตัวอย่างของบุคคลสำคัญ ในขณะที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ไม่มีความท้อแท้หรือสิ้นหวัง กลับลุกขึ้นสู้ พร้อมใช้เวลาที่ถูกจำคุกทั้งชีวิตทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมและประเทศให้มากที่สุด

"คุณงามความดีและคุณูปการหรือผลงานของ สอ เสถบุตร สะท้อนความคิดทางการเมือง ประวัติศาสตร์และสังคม รวมทั้งยังเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ ดังนั้น ย่อมมีค่าและควรเก็บเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พจนานุกรมฉบับดั้งเดิมของ สอ เสถบุตร มีคุณประโยชน์ในการใช้ภาษา สามารถอธิบายความหมายของคำในรูปประโยคในบริบทของคนไทยให้เห็นภาพได้ นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นสภาพประวัติ ศาสตร์ ปรัชญา และการเมืองในสมัยนั้นไว้ได้ด้วย ดังนั้น จึงควรอนุรักษ์พจนานุกรมของ สอ เสถบุตร ในฉบับดั้งเดิม เป็นมรดกของคนไทยไว้ด้วย" นางพัชรพิมพ์กล่าวทิ้งท้าย

จวบจนทุกวันนี้ชื่อ สอ เสถบุตร ยังเป็นที่ระลึกถึงทั้งในฐานะผู้แต่งพจนานุกรมที่ดีที่สุด และในฐานะบุคคลผู้ยิ่งใหญ่เจ้าของประวัติชีวิตการต่อสู้อันเข้มข้นน่าศึกษา

อาจมีผู้เขียนพจนานุกรมที่เชี่ยวชาญในหลักไวยากรณ์ สำนวน และวิธีการใช้คำอังกฤษ ตลอดจนรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธ รรมของชนชาตินี้นับพันนับหมื่นคน

แต่มีบุคคลเพียงหนึ่งเดียวที่มุ่งมั่นเขียนพจนานุกรม ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานะนักโทษการ เมืองที่ไร้ทั้งอิสรภาพและความสะดวกสบาย

เขาคือ "สอ เสถบุตร"

คัคนานต์ ดลประสิทธิ์ รายงาน

ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก www.sanook.com
NATUI Officially 2009-06-23 12:13:02 8256