2024-11-15

พักรบ สงครามในที่ทำงาน






ลำพังเป็นมนุษย์เงินเดือนทำงานอาทิตย์ละกว่า 40 ชั่วโมง ก็เครียดจะแย่ ถ้ายังต้องหมกมุ่นกับความขัดแย้งกับคนอื่นๆ ชนิดที่บางรายหนักหนาถึงขั้นประกาศความเป็นศัตรูต่อกันนี่เห็นทีคงไม่ไหว


แม้จะรู้ธรรมชาติของตัวเองว่าไม่ชอบไปสู้รบปรบมือกับใคร แต่ถ้าอยู่นิ่งเฉยแล้วปัญหามันยังวนเวียนอยู่ไม่ไปไหน คงต้องลุยสักตั้งแล้วล่ะ


( หมายเหตุ : WW = WAR AT WORK )


WW I เพื่อนร่วมงาน
เพื่อนร่วมงานเป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดข้อขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดเห็นหรือเรื่องอื่นๆ นั้นไม่แปลกประหลาดแต่ประการใด ยิ่งถ้ามีเรื่องการแข่งขันเพื่อให้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเข้ามายุ่งด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการขัดแข้งขัดขากันโดยไม่เจตนาก็เป็นได้


PEACE , PLEASE !
* อันดับแรกต้องหาโอกาสพูดคุยในเวลาที่คุณและคู่กรณีสะดวกที่สุด แต่เน้นว่าคุณต้องมั่นใจว่าตัวเองจะควบคุมอารมณ์และสถานการณ์ได้ ไม่ระเบิดลงจนโต๊ะเจรจาสันติภาพกลายเป็นสมรภูมิย่อยเป็นอันขาด


* จับประเด็นให้มั่นว่า เรื่องค้างคาใจที่ต้องยกมาพูดให้เคลียร์มีอะไรบ้าง


* เตรียมคิดมาด้วยว่า จะหาทางออกร่วมกันยังไง ถ้าเป็นความไม่พอใจส่วนตัว คงต้องพูดให้ชัดว่า อะไรที่รับได้ อะไรที่รับไม่ได้ เส้นแบ่งอยู่ตรงไหน ส่วนถ้าเป็นเรื่องผลงานว่าใครจะเข้าตาเจ้านายมากกว่าอันนี้ก็ต้องตกลงให้ได้ว่า จะแข่งกันแบบแฟร์ๆยังไง


* สุดท้ายท่องไว้เสมอว่าคุณและเพื่อนอยู่ในทีมเดียวกัน “ทีมเวิร์ค” คือคาถาที่ทุกบริษัทต้องมี



WW II เจ้านาย

ขึ้นชื่อว่าทะเลาะกับเจ้านาย แค่คิดก็เสียวสันหลัง ไม่ต่างกับการเดินอยู่บนเส้นด้ายที่เราต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมาลูกน้องเกิดข้อขัดแย้งกับเจ้านายก็ใช่ว่าไม่มี ทั้งเรื่องไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการทำงาน หรือคำแนะนำบางอย่างจากเจ้านายที่เราเห็นว่าไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด


#news#


PEACE , PLEASE !
* เจ้านายที่ดีมักจะต้องการรับฟังเรื่องอัดอั้นตันใจของลูกน้อง ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะจิ๊บจ๊อยหรือหนักอกหนักใจแค่ไหน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคุณก็ต้องมีวิธีขอเข้าพบเจ้านายในทางที่เหมาะสมเช่นกัน


* วิธีที่ดี คือ ขอนัดเข้าพบเพื่อพูดคุยอย่างเป็นกิจลักษณะ และพูดถึงสิ่งที่กังวลอยู่อย่างตรงประเด็น โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด


* ขอย้ำว่า ข้อขัดแย้งที่จะยกมาพูดกับเจ้านายนั้นควรเป็นเรื่องที่คุณคิดว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของคุณ และบรรยากาศโดยรวมในที่ทำงาน โดยมีเป้าหมายหลักของการเจรจาก็เพื่อพัฒนาการทำงาน และแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไป ไม่ใช่ เพื่อความสบายใจส่วนตัวของคุณ อย่าลืมว่าเจ้านายไม่ได้มีคุณเป็นลูกน้องคนเดียว สิ่งที่คุณต้องการอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดต่อองค์กรโดยรวมก็ได้


* เช่นเดียวกับทุกปัญหา เมื่อมีการพูดคุยคุณก็ควรมีทางออกมานำเสนอด้วย ส่วน เจ้านายจะเออออห่อหมกด้วยหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้านาย ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาแนะนำว่าคุณควรเตรียมเปิดใจไว้ส่วนหนึ่งด้วย


* ในกรณีที่เจ้านายไม่ยอมรับฟังโดยดี หรือมีทีท่าไม่ใส่ใจอย่างเห็นได้ชัด และคุณรู้สึกว่าปัญหานี้หนักหนาเกินจะทนไหว คงต้องชั่งใจเลือกแล้วละว่า คุณจะเป็นฝ่ายปรับตัวปรับใจ หรือเปลี่ยนเจ้านายไปเลย


WW III ผู้บริหารระดับสูงหรือเจ้านายระดับซีอีโอ
ความขัดแย้งบางอย่างเจ้านายที่ใกล้ชิดคุณที่สุดอย่างผู้บังคับบัญชาระดับต้นไม่สามารถจะแก้ไขได้ เป็นเหตุให้คุณอยากจะร้องเรียนไปถึงผู้บริหารระดับซีอีโอให้มันรู้แล้วรู้รอด

PEACE , PLEASE !


* เคสนี้ต้องใช้ความระมัดระวังให้มากที่สุด เพราะคุณไม่รู้หรอกว่าการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงเช่นนี้ จะทำให้คนอื่นเก็บไปเม้าธ์ด้วยความหมั่นไส้ หรือคุณอาจถูกมองว่าข้ามหน้าข้ามตาเจ้านายคนอื่นๆ เท่ากับเป็นการสร้างศัตรูเพิ่มขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า


* วิธีที่ควรทำ คือ พูดคุยกับเจ้านายที่อยู่ในสายงานเดียวกับคุณก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการข้ามหน้าข้ามตา แต่ถ้าเผอิญผู้บริหารระดับสูงเป็นเจ้านายของคุณเอง อาจต้องแจ้งเจ้านายที่ฝ่ายบุคคลให้เป็นตัวประสาน


* กลยุทธ์การเจรจาจำเป็นอยางยิ่งว่าต้องเลือกแนวการเจรจาแบบการทูตเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ไม่แนะนำให้ยึดหลัก “กล้าได้กล้าเสีย” หรือ “เราไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว” เป็นอันขาด


WW IV ลูกค้า
ว่ากันตั้งแต่ลูกค้ายี้ๆ ลูกค้าขี้วีน ลูกค้าจู้จี้ ลูกค้าชอบเรียกร้อง ลูกค้าจ้องแต่จะติ ลูกค้าไม่ยอมฟัง ฯลฯ แต่จะอย่างไรเสียเมื่องานคือหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และลูกค้าก็เป็นส่วนหนึ่งของงาน คุณก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญหน้า


PEACE , PLEASE !
* อย่าเพิ่งฟาดฟันกันจนแหลกไปข้าง คุณควรปรึกษาเจ้านายให้เรียบร้อยก่อนว่าจะมีทางออกดีๆ อะไรบ้างให้ร่วมงานกับลูกค้าได้อย่างเป็นสุข (ทั้งสองฝ่าย) เพราะเจ้านายมักอาบน้ำร้อนมาก่อน ย่อมจะมีหนทางดีๆ มาสงบศึกคุณกับลูกค้าได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อได้บ้างละ


* เมื่อจำเป็นต้องมีการเจรจาจะสักยันต์กันลืมไว้เลยก็ได้ว่า “ลูกค้าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ” ฉะนั้นสิ่งใดการพูดคุยครั้งนี้เป้าหมายหาใช่ชัยชนะ แต่เป็นการบรรเทาความตึงเครียดเพื่อให้งานของลูกค้าออกมาดีที่สุด


* ทุกเรื่องที่ยกมาพูดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “เหตุผล” และ “ความจริงใจ” ที่มีต่อลูกค้าทั้งนี้ก็เพื่อตัวคุณเองและภาพลักษณ์ของบริษัทด้วย


บทความดี ๆ จาก www.sanook.com

NATUI Officially 2009-10-13 00:08:26 4565