เสน่ห์ของไทย ที่ใครก็เอาชนะเราไม่ได้ตั้งแต่ความอ่อนน้อมถ่อมตน รอยยิ้ม การไหว้ ความจริงใจ ที่เป็นเสมือนแบรนด์ที่ใครในโลกก็เลียนแบบไม่ได้ เพราะมาจากรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเราจริง ๆ โดยต้องผนวกกับกลยุทธด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านการออกแบบร้านไทยในต่างแดน ซึ่งวันนี้เราเองก็ยังไม่ได้นำเอาสิ่งดี จุดเด่น ความเก่งและถนัดไปนำเสนอมากเท่าใดนัก มีเพียงด้านเดียวคือสินค้าและรสชาติอาหาร (สำหรับร้านอาหารไทย) ซึ่งยังมีผลิตภัณฑ์ และการให้บริการอื่น ๆ อีกมากมายที่ต้องได้รับการออกแบบที่ดี โดยเริ่มต้นด้วยแนวคิดดังต่อไปนี้ครับ
1. แรงบันดาลใจ (Inspriation)
เริ่มต้นต้องมีแรงบันดาลใจที่เป็นเสมือนตัวกระตุ้นให้เกิดสิ่งอื่น ๆ อีมากมายภายในร้าน แรงบันดาลใจจะมาจากอะไรก็ได้ในโลกหรือจักรวาลนี้ แต่จะใช้ได้หรือไม่อยู่ที่ความเหมาะสมกับสินค้าที่เรียนกว่ากาลเทศะ แรงบันดาลใจอาจจะเริ่มจากสิ่งที่เล็กที่สุด ง่ายที่สุด ไปจนถึงสิ่งที่ใหญ่ที่สุด ยากที่สุด ไม่มีขอบเขตตายตัว เช่น แรงบันดาลใจจากทะเล ธรรมชาติ แรงบันดาลใจจากความรู้สึก ความรัก แรงบันดาลใจจากเทคโนโลยี นวัตกรรม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีและหัตถกรรม เป็นต้น
2. การสร้างธีม (Theme)
เริ่มที่หัวเรื่องของความคิด ที่ต้องกำหนดขึ้นมาเสียก่อน จะแตกต่างกับแนวความคิด (Concept) ตรงที่ธีมเป็นเสมือนจุดศูนย์กลางที่เชื่อมโยงกับทุกสิ่งภายในร้าน แต่แนวความคิดเป็นเสมือนภาพรวม (องค์รวม)ของร้าน ธีม คือ สิ่งที่บอกทิศทางของร้านในเชิงความคิดสน้างสรรค์ ถึงกับดีไซน์เนอร์บางคนได้กล่าวว่าถ้าผลงานคิดธีมไม่ออกก็ยังคิดอย่างอื่นไม่ได้ ซึ่งเป็นเสมือนประตูของงานออกแบบทั้งหมด
3. สัญลักษณ์ (Symbol)
หลังจากมีแรงบันดาลใจและกำหนดธีมได้แล้วนั้น ก็ควรกำหนดสัญลักษณ์ออกมาเป็นรูปแบบของโลโก้ร้านกราฟฟิกต่าง ๆ ภายในร้าน เช่น ป้ายบอกทาง ป้ายบอกราคา เมนู แพคเก็จ หีบห่อ เสื้อผ้าพนักงาน เป็นเสมือนการสื่อสารออกไปเป็นภาษาที่เรียกว่าสัญลักษณ์ มีผลต่อการจดจำ ประทับใจของลูกค้า มีผลต่อการจดจำภาพลักษณ์ในภายหลัง ก่อเกิดลูกเล่น ต่องานตกแต่ง เป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ที่มีพลังยิ่งต่อธุรกิจสมัยใหม่ทุกแขนง
4. การจัดผัง (Space Planing)
การจัดผังเครื่องเรือนที่ตรงกับวัตถุประสงค์และการใช้งานที่ได้ประสิทธิภาพ เช่น คำนึงถึงการต่อโต๊ะคำนึงถึงมุมมองทุกมุมในร้าน คำนึงถึงการสัญจรภายในร้านและการให้บริการของพนักงาน ลดปัญหามุมอับมุมเสีย ภายในร้าน โดยวางแผนจัดผังตัวอย่างเอาไว้ล่วงหน้าในหลาย ๆ แบบ หลาย ๆ กิจกรรมภายในร้าน เช่น การวางผังร้านอาหารในขณะคนแน่นร้าน การวางผังในขณะการต่อโต๊ะ จากการมาเป็นหมู่คณะเป็นต้น อีกทั้งการจัดผังควารคำนึงถึงธีม หลักและแนวความคิดหลักที่ต้องไปกัน
5. การออกแบบที่มีกิจกรรมร่วม (Activity)
กิจกรรมที่ส่งเสริมร้านแบบไทยมีมากมาย เช่น การแสดง การจัดดิสเพลย์ ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ของไทยทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของลูกค้าต่างชาติ จะได้ทราบถึงความเป็นไปและเสน่ห์เย้ายวลใจของวัฒนธรรมไทย ศิลปะวัฒนธรรม หัตถกรรม ดี ๆ มีมาก แต่ควรต่อยอดความคิดให้โตขึ้น สร้างสรรค์ขึ้น พัฒนาขึ้นแบบมีรสนิยม
#news#
สำหรับใครที่อย่างจะเปิดร้านไทยในต่างแดนที่ต้องเริ่มจากการออกแบบและสร้างแบรนด์เสียก่อน ให้กำลังใจและสนับสนุนให้เกิดร้านไทยมาก ๆ ทุกประเภทที่กล่าวมา และหลายสาขาต่อเนื่องอย่างมีระบบเพราะนี่คือการทำงานที่นำเอาสิ่งที่เราถนัดออกสู่การค้าโลกอย่างมั่นใจ อะไรที่เราไม่ถนัดก็ควรที่จะสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่เรามี สิ่งที่ถนัดของดีของไทย ยังมีอีกเยอะ... จะชนะคนอื่นได้กลับมามองรากเหง้าและรากหญ้าของเราที่แหละครับ จะถือได้ว่าเป็นไทยรีกไทยจริง ๆ
Photo: Sawasdee Thai Restaurant, Melbourne CBD
Design Firm: Hybrid Designs
By: IDEAL ONE