อีสเตอร์ คือ เทศกาลฉลองวันพระคริสต์คืนพระชนม์ (Easter Season) หรือ การสมโภชปัสกา (Passover)
วันคืนพระชนม์ขององค์พระเยซูคริสต์เป็นเทศกาลสำคัญที่สุดในปฏิทินของพระศาสนจักร และเป็นหัวใจแห่งความเชื่อศรัทธาของคริสตชนทั้งปวง หากปราศจากวันพระคริสต์คืนพระชนม์นี้ การเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์จะไม่มีความหมายใดๆ เลย
เทศกาลพระคริสต์คืนพระชนม์จะใช้เวลา 6 สัปดาห์โดยเริ่มตั้งแต่เช้าวันอาทิตย์ที่ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย กระทั่งถึงวันที่พระวิญญาณบริสุทธิ์เสด็จมาเพื่อคริสตจักร
การนับวันอีสเตอร์ตามปฏิทินเทศกาลของคริสตจักรสากล (The Universal Christian Year)
ปฏิทินในรอบปีของเทศกาลต่างๆ ที่คริสตจักรสากลถือปฏิบัติร่วมกัน ทั้งพระศาสนจักรของโรมันคาทอลิกและคริสตจักรของโปรเตสแตนต์ ต่างยึดเอาวันคืนพระชนม์ (Easter) เป็นหลักซึ่งในแต่ละปีวันคืนพระชนม์จะไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะตรงกับวันไหน เพราะขึ้นอยู่กับการนับวันตามจันทรคติ คือถือเอาวันอาทิตย์แรกหลังวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 เป็นวันคืนพระชนม์ โดยปกติแล้วมักจะอยู่หลังวันที่ 21 ของเดือนมีนาคม
ส่วนคริสตจักรของพวกกรีกออธอร์ดอกซ์จะกำหนดวันคืนพระชนม์โดยขึ้นอยู่กับเทศกาลปัสคาของพวกยิว
กำหนดวันในเทศกาลคืนพระชนม์ ในรอบ 10 ปี (ค.ศ. 2002 - ค.ศ. 2011) มีดังนี้คือ
ปี ค.ศ.2002 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม
ปี ค.ศ.2003 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน
ปี ค.ศ.2004 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน
ปี ค.ศ.2005 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม
ปี ค.ศ.2006 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายน
ปี ค.ศ.2007 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน
ปี ค.ศ.2008 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม
ปี ค.ศ.2009 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน
ปี ค.ศ.2010 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 เมษายน
ปี ค.ศ.2011 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน
สีที่ใช้ประจำเทศกาลนี้คือ “สีขาว”
ข้อพระคัมภีร์สำหรับเทศกาลนี้คือ หมวดจดหมายฝากของอัครทูตเปาโล ที่ได้กล่าวถึงการเป็นขึ้นมาจากความตาย เช่น พระธรรม 1 โครินธ์ บทที่ 1-2 และบทที่ 15 พระธรรมเธสะโลนิกาทั้งฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2 รวมไปถึงการอ่านจากพระธรรมอพยพ พระธรรมฮีบรู และพระธรรมอิสยาห์ บทที่ 40-56
ประวัติและพัฒนาการของเทศกาลวันอีสเตอร์
วันอีสเตอร์ ซึ่งเป็นวันระลึกถึงวันเป็นขึ้นมาจากความตายขององค์พระเยซูคริสต์ ตรงกับวันอาทิตย์ คำว่า "อีสเตอร์" ที่นำมาใช้สำหรับการฉลองนั้นมาจากคำว่า "EOSTRE" ซึ่งเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิตของพวกทูโทนิค เป็นเทพเจ้าแห่งการฟื้นคืนชีพ เพราะก่อนถึงฤดูนี้ ต้นไม้ ใบหญ้า ดอกร่วงหล่นเหลือแต่ซาก พอถึงฤดูใบไม้ผลิมันจะกลับผลิดอกออกใบมีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นฤดูใบไม้ผลิ จึงถูกนำมาเปรียบกับการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูด้วย จึงเรียกวันนี้ว่า "อีสเตอร์"
สมัยก่อน พระศาสนจักรจัดฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ที่ไม่ตรงกัน จนถึงปี ค.ศ.325 สภาไนเซียหรือสภาผู้นำชาวคริสต์ทั่วโลกได้ประชุม และมีมติให้กำหนดแน่นอน ให้คริสตชนทั่วโลกฉลองเทศกาลอีสเตอร์ให้ตรงกัน โดยกำหนดวันอีสเตอร์คำนวนตามระบบจันทรคติ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้การฉลองวันที่พระเยซูเป็นขึ้นมาจากความตาย ตรงกับเหตุการณ์ในครั้งแรกจริงๆ
การฉลองวันอีสเตอร์ โดยทั่วไปจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดของวันอาทิตย์ คริสตชนจะไปรวมตัวกันที่โบสถ์ หรือที่สุสาน หรือในทุ่งกว้าง หรือตามป่าเขา ร้องเพลงนมัสการพระเจ้าตั้งแต่ยังมืดอยู่ พอดวงอาทิตย์ค่อยๆ โผล่ขึ้นจากขอบฟ้า เสียงเพลง "เป็นขึ้นแล้ว" ก็จะดังกระหึ่มขึ้น เขาจะร้องเพลงอธิษฐานโมทนาพระคุณพระเจ้า และสรรเสริญพระองค์ที่ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้มีชัยชนะเหนือความตาย และทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์
หลังจากนั้นก็ บรรยายถึงการเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์ หนุนใจให้คริสตชนดำเนินชีวิตอย่างมีชัย เหนือความบาป และความตาย ยืนหยัดอยู่ในความเชื่อศรัทธาที่มีต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า จากนั้นส่วนใหญ่ก็จะรับประทานอาหารเช้าร่วมกัน เสร็จแล้วบางแห่งก็จะมีการเล่นเกมสนุกๆ หลายๆแห่งนิยมเอาไข่มาระบายสีต่างๆ ให้ดูสวยงาม และนำไปซ่อนให้เด็กๆ หรือหนุ่มสาวค้นหาอย่างสนุกสนาน
#news#
คนโบราณในประเทศตะวันตก เชื่อกันว่าไข่เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต เพราะกำลังจะมีชีวิตใหม่เกิดขึ้น จึงได้มีการใช้ไข่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์กัน คริสตชนถือว่า วันที่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตาย เป็นวันที่สำคัญที่สุด เป็นหัวใจของข่าวประเสริฐ เพราะถ้าไม่มีวันอีสเตอร์ วันคริสต์มาสหรือวันศุกร์ประเสริฐ ก็ไม่มีความหมาย เพราะถ้าพระเยซูเสด็จมาเกิด และสิ้นพระชนม์โดยไม่ได้เป็นขึ้นมาใหม่ พระองค์ก็จะเป็นพระเจ้าที่ตายแล้ว ไม่สามารถช่วยเราได้ แต่เมื่อพระองค์ได้ชัยชนะเหนือความตาย บรรดาผู้เชื่อจึงมีความหวังที่แน่นอน ที่จะเป็นขึ้น
จากความตาย มีชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์สถานกับพระเจ้า ได้มีความมั่นใจในชีวิตนิรันดร์หลังความตาย สิ่งนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ว่า หลังจากพระเยซูคริสต์เป็นขึ้นมาจากความตาย พระองค์ได้ไปปรากฏในที่ต่างๆ หลายแห่ง ท่ามกลางสาวก และได้อยู่กับสาวกเป็นเวลา 40 วัน จึงได้ เสด็จสู่สวรรค์ท่ามกลางพยานถึง 500 คน เมื่อพระองค์ตรัสสั่งสาวกให้ไปประกาศข่าวประเสริฐ จนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก (มัทธิว 28:18-20)
และพระองค์ทรงสัญญาว่าจะอยู่กับพวกเขาจนกว่าจะสิ้นยุด และยังสัญญาว่าจะกลับมารับพวกเขาไปอยู่กับพระองค์ พวกสาวกจึงได้ออกไปประกาศข่าวนี้ โดยไม่กลัวอันตรายใดๆ บ้างก็ถูกต่อต้าน ถูกจับทรมาน ถูกฆ่าตาย แต่พวกเขาก็ไม่หยุดยั้ง เพื่อยืนยันถึงสัจธรรมที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นความจริง โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยิ่งนับวัน ผู้คนติดตามพระองค์ก็มีมากขึ้น พระองค์ได้สถาปนาอาณาจักรของพระองค์ด้วยความรัก ที่สละได้แม้ชีวิตของพระองค์เอง ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นความจริง
พยานผู้รู้เหตุการณ์ในวันที่พระเยซูฟื้นคืนพระชนม์
หลังจากพระเยซูคืนพระชนม์เป็นขึ้นจากความตาย คือ "วันอีสเตอร์" ได้ทรงปรากฏแก่เหล่าสาวก หลายครั้งจนมีพยานหลักฐานมากมายยืนยันในวันนั้น
1. พยานบุคคล
1) มารีย์ มักดารา (ยน.20.11-18) สาวกหญิงอดีตคือหญิงผิดประเวณี
2) ผู้หญิงสามคน (มก.16.1-8,มธ.28.1-10) มารีย์ ชาวมักดารา มารีย์ มารดาของยากอบ และนางสะโลเม
3) เปโตร (ลก.24.34,1คร.15.5) สาวกที่เป็นผู้นำของพระเยซู มีอีกชื่อคือเคฟาสหรือซีโมน
4) อัครสาวก 2 คน (ลก.24.13-35) เคลโลปัสและเพื่อน
5) อัครสาวก 10 คน (ลก.24.36-43,ยน.20.19-23) ยกเว้นยูดาสกับโธมัส
6) อัครสาวก 10 คนและโธมัส (ยน.20.24-29) ยกเว้นยูดาส
7) อัครสาวก 7 คน (ยน.21.1-23) เปโตร โธมัส นาธาเอล ยากอบ ยอห์น และสาวกอีก 2 คน
8) ผู้ติดตามพระเยซู 500 คน (ยน.20.24-29)
9) ยากอบ (1 คร.15.7) ลูกพี่ลูกน้องกับพระเยซู และเป็นผู้นำพระศาสนจักรในยุคแรก
10) อัครสาวกทั้งหมด (1 คร.15.7,มก.16.14-20) เหลือ 11 คน หลังจากยูดาสทรยศและต่อมาได้ฆ่าตัวตาย
11) สเทเฟน (กจ.7.54-60) 1 ใน 7 ผู้นำชุดแรกของพระศาสนจักร
12) เปาโล (กจ.9.1-25,1 คร.15.8,22.17-21)
13) เปาโล (กจ.22.17-21) เมื่อแรกเริ่มกลับใจขณะอธิษฐาน
14) เปาโล (กจ.23.77) เมื่อทหารแยกท่านจากพวกสะดูสีและฟาริสี
15) ยอห์น (วว.13.18) เมื่อท่านอยู่ที่เกาะปัทโมส
2. พยานวัตถุ (น.20.3-9; มธ.27.66 )
1) ตราประทับของเจ้าหน้าที่โรมถูกทำลาย
2) หินใหญ่ปิดปากอุโมงค์เปิดออก
3) อุโมงว่างเปล่าปราศจากพระศพ
4) ผ้าพันพระศพยังพันอยู่ในรูปเดิม
3. พยานเอกสาร
1) จดหมายฝากในพระคัมภีร์ใหม่
2) พระคัมภีร์กิจการในพระคัมภีร์ใหม่
3) ข้อเขียนของนักประวัติศาสตร์ เช่น โจเซฟัส, อิกเนเชียส,จัสติน มาร์เตอร์, เทอร์ ทัลเลียน
พัฒนาการของเทศกาลอีสเตอร์
แม้ว่าคำว่าอีสเตอร์ไม่ได้ปรากฏในพระคัมภีร์ แต่ถูกนำมาใช้เรียกเทศกาลเฉลิมฉลองการที่ “พระเยซูคริสต์ทรงเป็นขึ้นจากความตาย” นามอีสเตอร์นี้ได้มาจากชื่อของเทพธิดาหรือพระแม่เจ้าแห่งฤดูใบไม้ผลิ ของพวกแองโกลแซงซอนที่นามว่า “Eastre” ซึ่งคำนี้เข้าใจกันว่ามาจากภาษาเยอรมันโบราณ คือ Eostarun แปลว่า “รุ่งอรุณ” และเข้าใจว่าการฉลองการคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลินั่นเหมาะสมเพราะ...
1. วันอีสเตอร์อยู่ในฤดูใบไม้ผลิ (ระหว่างเดือนมีนาคม และเมษายน )
2. ฤดูใบไม้ผลิเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตใหม่ ต้นไม้ใบไม้ที่ดูเหมือนตายในฤดูหนาว
กลับผลิใบออกดอกดุจเกิดใหม่ ดังนั้นจึงเป็นภาพที่เหมาะสมที่จะพรรณาถึงการ
กลับเป็นขึ้นจากความตายของพระคริสต์
อย่างไรก็ตามตัวเทศกาลนี้ได้พัฒนามาจากเทศกาล “ปัสกา” (Passover) ของยิว ซึ่งในภาษาฮีบรูนั้นคือ Pesah ส่วนกรีกคือ Pascha เมื่อกลับไปที่พระคัมภีร์ใหม่เหตุการณ์ต่างๆช่วงสุดท้ายในพระชนม์ชีพของพระ เยซูคริสต์ อยู่ในช่วงเทศกาลปัสกาดั้งเดิม วันอีสเตอร์ได้ถือปฏิบัติกันในวันปัสกา เป็นวันที่ 14 เดือนนิสาน เดือนนิสาน (Nisan) คือเดือนแรกของปีของชาวยิว (ซึ่งคล้ายกับเดือนมกราคมของสากล) เดิมมีชื่อว่า อาบีบ (Abib) ตรงกับช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนในสมัยปัจจุบัน
และวันปัสกานั้นตรงกับวันที่ 14 เดือนนิสาน (ดูอพยพ 12:18; เลวีนิติ 23.5; อิสยาห์ 3.7; เนหะมีย์ 2.1) จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 2 คริสตชนบางกลุ่มเริ่มเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ในวันอาทิตย์ หลังจากวันที่ 14 เดือนนิสาน โดยถือเอาว่าวันศุกร์ก่อนวันอาทิตย์นั้นคือวันที่พระเยซูคริสตืเจ้าถูกตรึง ที่ไม้กางเขนจนสิ้นพระชนม์ ผลสุดท้ายก็เกิดการโต้เถียงในเรื่องวันที่ถูกต้องในการฉลองเทศกาลอีสเตอร์
จนกระทั่งในปี ค.ศ.197 วิคเตอร์แห่งโรม ได้บีบคริสตชนที่ยืนยันการเฉลิมฉลองอีสเตอร์ในวันที่ 14 เดือนนิสาน ไปจากหมู่คณะ แต่การถกเถียงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป จนกระทั่งมาถึงต้นศตวรรษ ที่ 4 “จักรพรรดิคอนสแตนติน” ทรงบัญชาให้ฉลองวันอีสเตอร์เป็นวันอาทิตย์หลังวันที่ 14 เดือนนิสาน แทนการเฉลิมฉลองวันที่ 14 เดือนนิสาน เหมือนที่เคยปฏิบัติกันมา
โดยเหตุนี้ วันอีสเตอร์จึงได้รับการเฉลิมฉลองในวันอาทิตย์แรก หลังจากวันเพ็ญแรกที่ตามหลัง “วสันวิษุสวัต” (Vernal Equinox) ซึ่งเป็นวันที่เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พูดกันง่ายๆคือจากวันนั้น ถึงวันนี้ “วันอีสเตอร์” จะต้องหลังจากวันที่ 21 มีนาคม ของทุกๆปี
จึงสรุป ดังนี้เมื่อเริ่มแรกนั้น วันอีสเตอร์เป็นงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ความสอดคล้องของเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงนำชาวอิสราเอลให้อพยพรอดออกมาจาก อียิปต์ในวัน “ปัสกา” และเหตุการณ์ที่พระเยซูคริสต์ทรงไถ่ ผู้ศรัทธาในพระองค์ให้รอดจากความบาป จนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 อีสเตอร์จึงแยกออกมาและประกาศอย่างชัดเจนว่า เป็นการเฉลิมฉลองเพื่อระลึกถึง “การเป็นขึ้นมาจากความตายของพระเยซูคริสต์” หลังจากที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปของมนุษย์ และการฉลองนี้จะอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เคยเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิ ของชาวยุโรป
ดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีสเตอร์ คือ ดอกลิลี่ หรือดอกพลับพลึงขาวบริสุทธิ์
Easter Eggs : ไข่อีสเตอร์
การหาไข่อีสเตอร์ กลายเป็นธรรมเนียมประเพณีที่สนุกสนาน เคียงคู่ไปกับการเฉลิมฉลองวันอีสเตอร์ จนยากที่จะตัดทิ้ง ทั้งๆที่ไข่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับอีสเตอร์แรกเลย เริ่มแรกเมื่อมีการใช้ไข่ในยุโรปสมัยโบราณ หมายถึง “ชีวิตใหม่” หรือ “ความอุดมสมบูรณ์ที่กลับมาอีกครั้งหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ” ชาวยุโรปเคยใช้ไข่กลิ้งไปตามท้องทุ่ง แล้วบนบานให้ทุ่งนาของตนมีผลิตผลบริบูรณ์
ต่อมาเมื่อคริสต์ศาสนาเผยแผ่เข้าไปในยุโรป และในหลายๆประเทศยอมรับเชื่อเป็นสาวกของพระเยซู เมื่อถึงปัสกา หรือ อีสเตอร์ ซึ่งตรงกับฤดูใบไม้ผลิพอดี เลยเอาไข่ที่เคยใช้แต่ก่อนแล้วมาผสมโรงด้วย
ไปดูหลักฐานการใช้ไข่ตั้งแต่โบราณคือ ชาวอียิปต์ และชาวเปอร์เชียได้นำไข่มาทาสีและมอบให้เป็นของขวัญแก่เพื่อนๆ ในเวลาต่อมาคริสตชนในตะวันออกกลาง เป็นพวกแรกก็ได้เอาไข่ทาสีเข้ามาในพิธีเฉลิมฉลอง อีสเตอร์ของตน
ณ เวลานี้ ไข่ก็ได้พัฒนาเป็นช็อกโกแลตรูปไข่หรือไข่พลาสติก ข้างในบรรจุของกิน หรือของขวัญตามที่จะออกแบบใช้กันในประเทศนั้นๆ นี่เป็นที่มาด้านธุรกิจ อย่างไรก็ตามสำหรับอีสเตอร์ในคริสตจักรไทยๆ ก็ยังนิยม เอาไข่ ไก่-เป็ด มาต้ม ทาสีแดง หรือไม่ทา แต่ก็เอาไปซ่อนไว้ในที่ต่างๆ เช้ามืดของวันอาทิตย์ คริสตชนจะไปโบสถ์กันตั้งแต่เช้ามืด เด็กๆก็หาไข่ที่ซ่อน ผู้ใหญ่ก็ร่วมนมัสการเช้ามืด จำลองสถานการณ์เหมือนเช้าตรู่ เมื่อสองพันปีที่ แล้วที่สาวกย่องไปที่อุโมงค์เพื่อไปชโลมพระศพ และพบว่าอุโมงค์ว่างเปล่า เพราะพระเยซูเป็นขึ้นจากความตายแล้ว
Easter Bunny : กระต่ายอีสเตอร์
ทำนองเดียวกับไข่ เพียงแต่กระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของ “ชีวิตใหม่” ที่ออกลุกดกในฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าการเน้น “การเป็นขึ้นจากความตาย” มาดูที่ความเชื่อโบราณของคนอียิปต์ กระต่ายเป็นสัญลักษณ์ของ “ดวงจันทร์” ประกอบกับการยึดเอาปฏิทินทางจันทรคติมาเป็นตัวกำหนดวันอีสเตอร์ในแต่ละปี ด้วย ดังนั้นกระต่ายจึงเป็นของแถมกลายเป็นสัญลักษณ์ของอีสเตอร์ไปเลย
ด้านตำนานสมัยใหม่เกี่ยวกับกระต่ายคือ สตรีนางหนึ่งซ่อนไข่อีสเตอร์ไว้สำหรับลูกๆของนางในช่วงกันดารอาหาร ในขณะ ที่เด็กๆพบไข่ที่คุณแม่ซ่อนไว้นั้น พวกเขาพบกระต่ายตัวโตตัวหนึ่งกระโดนออกไปจากหลุมที่ซ่อนไข่นั้น พวกเด็กๆจึงเข้าใจว่า กระต่ายเป็นผู้เอาไข่มาให้พวกเขา ดังนั้นเรื่องของกระต่ายจึงกลายเป็นธรรมเนียมอีสเตอร์ขึ้นมา
ที่มา www.kaochristian.com