เบิร์กลีย์ - นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐระบุว่า การงีบหลับช่วงกลางวันช่วยให้สมองจดจำข้อมูลใหม่ได้ดีขึ้น
ช่วงหลายปีมานี้มีการศึกษามากมายเกี่ยวกับการงีบหลับนอนกลางวัน แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าให้ผลดีอย่างไร ล่าสุด มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ศึกษาพบว่า สมองอาจต้องการพักผ่อนชั่วขณะเพื่อประมวลความจำระยะสั้นจะได้จัดพื้นที่สำหรับรับข้อมูลใหม่ๆ พวกเขาให้อาสาสมัครผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง 39 คน ทำแบบทดสอบด้านการเรียนรู้ยากๆ ในช่วงเช้า ทั้งหมดได้คะแนนไม่ต่างกัน จากนั้นให้อาสาสมัครครึ่งหนึ่งได้นอนตอนกลางวันเป็นเวลา 90 นาที แล้วให้อาสาสมัครทั้งหมดกลับมาทำแบบทดสอบอีกครั้งพบว่า คนที่ได้นอนกลางวันทำคะแนนดีกว่าคนที่ไม่ได้นอน
ผลการตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าสมองชี้ว่า ช่วงที่ลูกตาไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วคือช่วงที่หลับลึกไปจนถึงช่วงฝัน ความจำเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ จะถูกย้ายจากฮิปโปแคมปัสซึ่งเป็นที่เก็บความจำชั่วคราวไปยังสมองส่วนหน้า นักวิจัยเปรียบเทียบว่า เหมือนกับอีเมลในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเต็ม การนอนหลับจะช่วยย้ายอีเมลเหล่านี้ไปยังสมองอีกส่วนหนึ่งให้สามารถรับอีเมลใหม่ๆ ได้
#news#
ด้าน ศ.เดิร์ค ยาน ดิจค์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการนอนหลับเซอร์เรย์ในอังกฤษติงว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า การงีบหลับตอนกลางวันให้ผลดีกว่าการนอนครั้งเดียวในแต่ละวัน เพราะวงจรการหลับและตื่นของคนไม่ได้จำกัดอย่างที่คิด การศึกษานี้เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ถูกกำหนด ผลที่ได้อาจแตกต่างไปเมื่ออยู่ในสภาพความเป็นจริง การประเมินผลจึงทำได้ยาก นอกจากนี้ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในช่วงที่ร่างกายพร้อมย่อมดีกว่าช่วงที่ง่วงนอนอยู่แล้ว
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Getty Images
ที่มา www.sanook.com