2024-11-14

สิทธิในการทำงานสำหรับผู้พิการ






สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกท่าน ใกล้เทศกาลอีสเตอร์แล้ว คุณผู้อ่านหลายๆท่านอาจวางแผนหยุดยาวเพื่อไปเที่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ในขณะที่หลายๆคนอาจจะถือโอกาสนี้ทำงานเก็บเงินเพราะว่าผู้ประกอบการบางรายที่ยังคงเปิดทำการในช่วงวันหยุดอาจให้ค่าแรงเยอะกว่าวันธรรมดาวันอื่นๆ เพื่อนร่วมงานของดิฉันบางคนวางแผนหยุดยาวสองอาทิตย์ตั้งแต่วันจันทร์หน้ากันเลยล่ะค่ะ


สำหรับผู้ที่วางแผนจะไปฉลองหรือเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆก็ขอให้ฉลองกันอย่างมีสติและระมัดระวังกันด้วยนะคะ เนื่องจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะเป็นประเทศใดๆก็ตามจะพุ่งขึ้นสูงมากเมื่อมีเทศกาลสำคัญๆไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุรามากเกินไปจนทำให้ขาดสติหรือความคึกคะนองกันอย่างเกินขอบเขตก็ตามค่ะ


คอลัมน์เปิดหูเปิดตาในฉบับนี้จะขอกล่าวถึง สิทธิในการทำงานของคนพิการ การเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการที่สามารถปฏิบัติภาระกิจในตำแหน่งหน้านั้นๆได้สมบูรณ์ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายตาม พระราชบัญญัติป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ (The Disability Discrimination Act) โดยพระราชบัญญัตินี้มีใจความว่านายจ้างจะต้องให้โอกาสในการทำงานแก่ทุกคนเท่าเทียมกันตราบใดที่ผู้พิการมีความสามารถในการทำงานในบรรลุล่วงไปได้เท่ากับผู้ที่ไม่พิการค่ะ คือผู้ที่มีความพิการจะต้องมีความสามารถในการทำงานให้ผ่านความต้องการหรือข้อกำหนดทางด้านคุณภาพของงาน (inherent requirement) นั่นคือ:


 

  1. ความสามารถในการปฏิบัติงานหรือหน้าที่ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ ตัวอย่างเช่นพนักงานลูกค้าสัมพันธ์ทางโทรศัพท์ โดยหน้าที่ของตำแหน่งนี้คือการให้ข้อมูลลูกค้าและตอบคำถามข้อข้องใจของลูกค้าทางโทรศัพท์ ผู้ที่ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์คือผู้ที่สามารถสื่อสารและช่วยเหลือให้ข้อมูลข่าวสารแก่ลูกค้าได้อย่างถูกต้อง โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอวัยวะที่สมบูรณ์เช่นแขนในการถือหูโทรศัพท์ ซึ่งหมายความว่า ถึงแม้ว่าผู้ที่ไม่สามารถใช้งานแขนได้สมบูรณ์นั้นก็ถือได้ว่ามีสิทธิในการทำงานในตำแหน่งนี้เช่นเดียวกัน
     
  2. ความสามารถในการปฏิบัติงานกันเป็นกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ
     
  3. ความสามารถในการทำงานได้อย่างปลอดภัย ตัวอย่างเช่น ลูกจ้างคนหนึ่งทำการร้องเรียนทางบริษัทว่าเขาถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากทางบริษัทมีข้อกำหนดให้พนักงานต้องสวมใส่หมวกเหล็กเพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายตัวอันเนื่องมาจากสาเหตุความเจ็บป่วยหรือพิการ ในกรณีนี้ถือได้ว่าพนักงานท่านนี้ไม่ผ่าน Inherent Requirement อันเนื่องมาจากลักษณะงานที่ทำนั้นเป็นงานอันตรายตามกฎหมายสุขภาพและความปลอดภัยทางด้านวิชาชีพ(Occupational Health and Safety Act)
     


บทความคอลัมน์ในฉบับที่แล้วเราเขียนชื่นชมรัฐบาลของประเทศออสเตรเลียว่าเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนผู้ที่กำลังประสบปัญหา,ด้อยโอกาสดั่งเช่น ผู้หญิงซึ่งโดนแฟนทำร้าย ในฉบับนี้เราจะขอชื่นชนรัฐบาลของเขาในอีกแง่มุมหนึ่งนั่นก็คือการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะพิการเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา สาธารณูปโภค หรือแม้แต่การที่มีกฎหมายออกป้องกันการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ


ยกตัวอย่างเช่นรถโดยสารประจำทางของประเทศออสเตรเลีย คาดว่าหลายๆคนอาจจะคงเคยเห็นมาบ้างแล้วเวลาที่มีคนนั่งรถเข็นขึ้นรถโดยสารประจำทาง ก็จะมีที่รองค่อยๆยื่นออกมาจากฐานประตูทางเข้าเพื่อให้สามารถใสรถเข็นขึ้นไปบนรถโดยสารประจำทางได้เลย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพมหานครของเราแล้ว อย่าว่าแต่คนพิการเลยค่ะ คนธรรมดายังจะก็แทบจะเอาชีวิตไปเสี่ยงเหลือเกินแล้วเมื่อก้าวขึ้นไปบนรถ


เมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยของเราก็พึ่งจะมีข่าวดีเกี่ยวกับสิทธิของคนพิการเช่นกัน คาดว่าคุณผู้อ่านบางท่านอาจเคยติดตามข่าวมาบ้างสำหรับอาจารย์ คณิตย์ ผามะณี มหาบัณฑิต ผู้พิการทางสายตา คนแรกของ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนที่เขาจะเรียนปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์นั้น เขาเรียนปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากสำเร็จการศึกษามีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเพิ่งจะรับอาจารย์คณิตย์เข้าไปสอน ซึ่งอาจารย์ท่านนี้มีความสามารถจริงๆ ซึ่งก่อนที่จะได้รับตำแหน่ง ทางมหาลัยเองตามข่าวกล่าวว่าอาจารย์ท่านนี้ทำคะแนนสอบมาได้เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งดิฉันเชื่อว่าใครๆที่ได้ดูข่าวนี้ก็ต่างรู้สึกชื่นชมในความสามารถของอาจารย์ และตัวอาจารย์เองก็บอกว่าอาจารย์ใช้วิธีการเข้าเรียนอย่างสม่ำเสมอและศึกษาความรู้ล่วงหน้า เหล่านี้คือเคล็ดลับของการเรียนเก่ของอาจารย์คณิตย์ค่ะ


จริงๆแล้วคอลัมน์เปิดหูเปิดตาเป็นคอลัมน์ที่ให้สาระน่ารู้ว่าสิทธิของพีอาร์และพลเมืองของประเทศนี้เขามีอะไรกันบ้าง เพื่อที่คนที่เป็นพีอาร์หรือพลเมืองอยู่แล้วจะได้รู้สิทธิรู้เสียงของเราและนำไปใช้อย่างเต็มที่และผลพลอยได้ก็คืออาจจะเป็นสื่อข้ามน้ำข้ามทะเลให้รัฐบาลไทยออกกฎหมายคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสให้มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ เผลอๆน้องๆที่กำลังนั่งอ่านคอลัมน์ของเราอยู่นี่ในอนาคตเมื่อศึกษาเสร็จกลับประเทศไทย ได้เป็นใหญ่เป็นโต อาจมีสิทธิมีเสียงในการออกความเห็นในเรื่องของการออกกฎหมายบ้านเมือง อาจจะนึกถึงบทความของเราแล้วนำความรู้ไปพัฒนาประเทศไทยให้น่าอยู่ขึ้นก็ได้ในอนาคตใครจะไปรู้ จริงไหมคะ


กลับมาเข้าเรื่องกันต่อที่กฎหมายคุ้มครองผู้พิการในประเทศออสเตรเลีย แต่ก่อนอื่นดิฉันอยากจะขออธิบายคำนิยามของคำว่า “พิการ” ตามพระราชบัญญัตินี้ก่อนว่ากฎหมายนี้ครอบคลุมผู้ใดบ้าง สำหรับบุคคลที่มีความพิการนั้นหมายถึง
 

  1. บุคคลที่มีปัญหาทางด้านการมองเห็น หมายถึง ผู้ที่มีความผิดปกติหรือมีความลำบากในการมองเห็นตัวอักษรขนาดปกติ ถึงแม้ว่าใส่แว่นตาหรือคอนแทนเลนส์แล้วก็ยังไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเช่น
     
  2. บุคคลซึ่งมีปัญหาในการรับฟัง ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเข้าช่วยเช่น เครื่องช่วยฟัง หรือต้องใช้ภาษามือในการสื่อสาร
     
  3. บุคคลซึ่งมีความยากลำบากในการเคลื่อนไหว ได้แก่ ผู้ที่มีความลำบากหรือสูญเสียการเคลื่อนไหว แขน ขา มือ นิ้ว เป็นต้น
     
  4. บุคคลซึ่งมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรม เช่นบุคคลที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมหรืออารมณ์ของตนเองได้ อาทิเช่น ความโกรธ ความเกลียดชัง
     
  5. บุคคลซึ่งมีปัญหาทางด้านการเรียนรู้ เช่นบุคคลที่ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติ หรือมีความจำกัดในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป
     

ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้พิการ กฎหมายฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงผู้ที่มีปัญหาในการดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวัน โดยอาจจะมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วย อาทิเช่นเป็นโรคมะเร็ง เบาหวาน หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้เจ็บหลังเรื้อรัง ส่งผลต่อการดำเนินงานในชีวิตประจำวัน สำหรับผู้อยู่ในขอบข่ายดังกล่าวมาทั้งหมดนี้จะมีหน่วยงานรัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือในการรักษา ฝึกอบรม และจัดหางานที่เหมาะสมกับทักษะของผู้ที่เข้าร่วม ซึ่งเราจะกล่าวถึงในฉบับหน้ากันค่ะ

ดังนั้น ตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลียจึงกำหนดให้นายจ้างทุกคนคัดเลือกผู้ที่มีตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงานไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะมีความพิการหรือไม่ โดยการตัดสินการคัดเลือกบุคคลควรคัดเลือกจากความสามารถของบุคคลนั้นๆในการดำเนินกิจกรรมสำคัญของงานให้ลุล่วง โดยนายจ้างไม่ควรที่จะสันนิษฐานไปก่อนว่าบุคคลหนึ่งๆไม่มีความสามารถที่เพียงพอในการดำเนินงานนั้นได้เนื่องจากมีความพิการ

ดิฉันมีโอกาสรู้จักกับพนักงานคนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านดิฉันเองค่ะ ดิฉันเองไปซื้อของเกือบทุกวันก็ได้มีโอกาสคุยกับเขาบ่อยๆ จริงๆพนักงานท่านนี้อาจจะเป็นโรคผิดปกติสักอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ลักษณะการแสดงออกอาจจะดูคล้ายเด็กๆตลอดเวลา หรือคำพูดที่แสดงออกอาจจะพูดไม่ได้มากเหมือนผู้ใหญ่เต็มตัวพูดกัน แต่จริงๆแล้วพนักงานคนนี้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเก็บเงินที่ซูเปอร์มาเก็ตได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เขาเป็นคนอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส คิดเงินได้ถูกต้อง ตัวดิฉันเองก็ยังรู้สึกชื่นชมบริษัทซูเปอร์มาเก็ตนี้อยู่เสมอ

พระราชบัญญัติดังกล่าวป้องการการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการในทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้:
  • กระบวนการขั้นตอนในการขั้นเลือก เช่น การประกาศโฆษณารับพนักงาน,การจัดเตรียมการให้ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงาน, แบบฟอร์มสมัครงาน,การสอบสัมภาษณ์,ข้อสอบเพื่อสอบสัมภาษณ์,การไต่ถามและกระบวนการขั้นเลือกอื่นๆ
     
  • การตัดสินใจเลือกบุคคลเข้าทำงาน
     
  • สัญญาและเงื่อนไขของการว่างจ้างงาน ตัวอย่างเช่น อัตราเงินที่ได้รับ,จำนวนชั่วโมงการทำงานและการลาหยุด, หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย,ข้อกำหนดในการทำงาน,อุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกของสถานที่ทำงาน,สิทธิในการลาหยุด,สิทธิการได้รับบำนาญ,หรือสิทธิในการได้รับค่าสินไหมทดแทน
     
  • โอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง,โยกย้าย, การฝึกอบรบและผลประโยชน์อื่นซึ่งเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างงาน
     
  • การปลดพนักงาน การลดตำแหน่งหรือการคัดพนักงานออก

    นอกจากนี้พระราชบัญญัติการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการยังครอบคลุมถึงการทำงานที่เป็นแบบสัญญาจ้าง,สมาชิกของห้างหุ้นส่วนซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลมากกว่าสามคนขึ้นไป นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงองค์กรต่างๆเช่น สมาคมหรือองค์กรซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเหล่าสายอาชีพต่างๆ,หรือคุณวุฒิ,ใบอนุญาตในแต่ละสายอาชีพ สมาคมสหพันธรัฐซึ่งจดทะเบียนแล้ว หรือหน่วยงานจัดหางานต่างๆ

    เมื่อผู้ซึ่งมีภาวะพิการได้รับการติดสินว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมกับสำหรับตำแหน่งงานนั้นๆ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องทำการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานเพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการทำงานของพนักงานนั้น

    ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ที่ได้รับตำแหน่งงานสามารถที่จะบอกนายจ้างได้ว่าเขาต้องการสิ่งใดปรับเปลี่ยนเพื่อการทำงานบ้าง ในขณะเดียวกัน นายจ้างควรที่จะขอคำปรึกษาจากหน่วยงานหรือองค์กรรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือบุคคลที่มีความพิการ

    ตัวอย่างของการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานซึ่งนายจ้างอาจจะต้องเปลี่ยนนั้นมีดังนี้ค่ะ:
    • การปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการตรวจสอบและคัดสรร ตัวอย่างเช่น การจัดเตรียมล่ามภาษาสัญลักษณ์ (ภาษามือ) ไว้สำหรับผู้ซึ่งมีปัญหาในการรับฟัง นอกจากนี้ผู้ซึ่งประเมินผลทางดานการแพทย์ควรจะเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านความพิการและผลที่ตรวจสอบนั้นว่ามีผลอย่างไรต่อการทำงานของผู้สมัคร
       
    • การปรับเปลี่ยนลักษณะสถานที่ทำงาน ตัวอย่างเช่น การทำทางลาดสำหรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็น การปรับเปลี่ยนห้องสุขาสำหรับคนพิการ การจัดเตรียมแสงไฟกะพริบฉุกเฉินสำหรับผู้ซึ่งมีปัญหาในการรับฟัง
       
    • การปรับเปลี่ยนลักษณะการทำงาน ตารางเวลาการทำงาน หรือวิธีการปฏิบัติงานอื่นๆ อาทิเช่น การสลับหน้าที่กันในบรรดาพนักงาน, เวลาพักทานอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
       
    • การปรับเปลี่ยนลักษณะของอุปกรณ์สำนักงาน ตัวอย่างเช่น การปรับพนักที่ทำงานให้ต่ำลง หรือการเปลี่ยนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ใหญ่ขึ้น

    อย่างไรก็ตามทางบริษัทจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมในด้านของค่าใช้จ่ายที่ตามมาว่าก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปหรือไม่สมควร(unjustifiable hardship)หรือไม่อีกด้วยค่ะ

    การก่อกวน(Harassment) ภายใต้พระราชบัญญัติการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการก็เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกันค่ะ โดยการก่อกวนที่ว่านี้รวมถึงความประพฤติที่ตั้งใจทำให้ผู้พิการได้กับความอับอาย รู้สึกว่าโดนข่มขู่หรือโดนทำให้เป็นทุกข์ซึ่งรวมไปถึง การก่อกวนทางด้านร่างกาย การก่อกวนทางด้านคำพูด ไม่ว่าจะเป็นการพูดต่อหน้าหรือการเขียนใส่กระดาษ อีเมลล์หรือภาพวาด หรือแม้กระทั่งการกีดกันไม่ให้เข้ากิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องการทำงานใดๆ

    แต่ถ้าถามว่าตอนสมัครงานนั้นนายจ้างเขามีสิทธิถามเราเกี่ยวกับความพิการหรือไม่ ขอตอบว่านายจ้างมีสิทธิถามค่ะ เนื่องจากคำถามบางคำถามเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจาก นายจ้างจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อใช้ในการตัดสินว่าคุณมีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานนั้นๆอย่างลุล่วงเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทหรือไม่ และหากคุณเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับงาน นายจ้างหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอาจต้องเป็นผู้ประเมินถึงสิ่งทางบริษัทจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนในการที่จะรับคุณเข้าทำงาน และสุดท้ายเพื่อที่นายจ้างจะสามารถกำหนดสิทธิหน้าที่เช่นในด้านของเรื่องเงินบำนาญ การจ่ายค่าชดเชยหรือประกันอื่นๆให้กับพนักงาน

    ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรรู้อย่างคร่าวๆเกี่ยวกับการหางานของผู้พิการหรือผู้ที่มีปัญหาหรือสูญเสียการทำงานของร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดไปเพราะความเจ็บป่วย ดังนั้นจึงอยากจะขอฝากไปยังผู้ที่ดูแลหรือรู้จักผู้ที่มีปัญหาในการมองตาด้วยนะคะ เนื่องจากบางท่านอาจจะไม่สามารถอ่านคอลัมน์ฉบับนี้ได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

    สำหรับผู้ที่กำลังมีปัญหาดังกล่าวไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากสิ่งใดๆก็ตามที่กำลังคิดท้อแท้ใจล่ะก็ ดิฉันขอเป็นกำลังใจให้ค่ะและขอให้ดูคุณคณิตย์ ผามะณี เป็นตัวอย่าง ปัจจุบันท่านกลายเป็นอาจารย์ที่สอนคนที่สามารถมองเห็นได้ไปเรียบร้อยแล้ว อาจารย์คณิตย์ ไม่สามารถมองเห็นสิ่งใดๆได้อีกเลยหลังจากอายุครบ 16 ปี แต่ท่านก็ไม่ละความพยายามกลับไปเรียนอักษรเบลล์ใหม่ จากข่าวในโทรทัศน์ คนรอบข้างของท่านรวมไปถึงคณะอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเพื่อนร่วมรุ่นบอกกับนักข่าวว่า ท่านเป็นคนที่มุ่งมั่นและพยายามมาก และท่านมุ่งหวังที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกให้ได้ จากภาพในโทรทัศน์เมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนของแต่ละคาบ นักศึกษาก็จะเดินจูงมือพาท่านไปส่งนอกห้อง เป็นภาพที่น่ารักมากค่ะ ผู้อำนวยการของมหาวิทยาลัยก็ให้สัมภาษณ์เองว่าท่านเป็นคนที่มีความสามารถจริงๆและเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในการสอนวิชานั้นๆอีกด้วย

    ฉบับหน้าพบกับบทความเกี่ยวกับองค์กรซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้พิการค่ะ

    แหล่งข้อมูล Australian Human Right Commission:

     

    ขอบคุณบทความดี ๆ จาก คุณ By Sally :Minae299@hotmail.com


    ที่มา :


    ภาพประกอบจาก Internet

NATUI Officially 2010-04-17 14:38:51 9274