Q: เข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ค่อยได้ เคยลองปรับตัวแล้วก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้น ตอนนี้ไม่มีความสุขเลย
A: คุณต้องแยกแยะปัญหาให้ชัดเจนก่อนว่า ปัญหามาจากเรื่องงานหรือเรื่องคน แล้วค่อยแก้ทีละเรื่อง ถ้าเป็นเรื่องคน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะกล้าเข้าไปพูด เพื่อขอให้เขาและเราแก้ปัญหาร่วมกัน แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เกิดเพราะเรา ก็ต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนความเคยชินให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กร อาตมาคิดว่าไม่มีอะไรเหลือวิสัยสำหรับคนตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลง
Q: ในที่ทำงานมีกลุ่มชอบเมาท์ แต่เราไม่ใช่คนแบบนั้น
A: ในทางพุทธ ถ้ามีคนตั้งวงนินทาว่าร้าย มีทางเลือก 2 อย่าง หนึ่ง ให้เดินออกจากตรงนั้นไป สอง นิ่งอย่างอริยะ ฟังเท่านั้น โนคอมเม้นต์สถานเดียว เพราะการที่เราไปร่วมวงไพบูลย์กับเขาก็เหมือนกับว่าเราเป็นคนเลวพอๆ กับเขานั่นเอง
Q: ระหว่างทำงานได้เงินเดือนเยอะๆ แต่ไม่มีความสุขจากการทำงานเลย กับได้เงินเดือนน้อยๆ แต่มีความสุขมาก เราควรเลือกอย่างไหนดี
A: ควรเลือกที่จะมีชีวิตที่มีความสุข เพราะชีวิตที่ถูกใช้ไปอย่างมีความทุกข์หรือความสุข ก็ไม่อาจเรียกชีวิตคืนได้ทั้งสิ้น ฉะนั้นในเมื่อวันเวลาที่ถูกใช้ไปเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้อีกแล้ว ทำไมคุณไม่เลือกที่จะมีชีวิตที่มีความสุขล่ะ
Q: การทำงานอาจเกิดการขัดแข้งขัดขากัน ถ้าเราทำบ้างจะเป็นบาปไหม
A: ถ้าเราทำ เราก็บาป หรือถ้าเราถูกกระทำ คนที่ทำเราก็บาป ทางที่ถูกต้องคือต้องยอมรับว่าโลกนี้มีคนเก่งอยู่มากมาย ใครก็ตามที่ทำงานกับเรา หากเขามีศักยภาพเป็นแม่ทัพก็ต้องให้เขาเป็น กีดกั้นเขาไว้ก็เป็นการแสดงออกว่าสุขภาพจิตของเรายังอยู่ในวิวัฒนาการขั้นต่ำมาก เราต้องยอมรับที่จะจัดวางที่อยู่ที่ยืนให้คนอื่นด้วย ยิ่งมีคนเก่งในองค์กรมากๆ ยิ่งสะท้อนว่าองค์กรของเรามีประสิทธิภาพจริงๆ
#news#
Q: ข้าราชการเกษียณที่อายุ 60 ปี ในทางธรรมะ อายุการทำงานของคนเราควรหยุดที่ประมาณเท่าไร
A: เราควรจะยุติงานรูทีนทั้งหลายเมื่อรู้สึกว่าชีวิตเสียสมดุล ในโลกนี้มีคนจำนวนมากที่ทำงานแล้วงานได้ผล แต่คนไม่เป็นสุข งานสัมฤทธิ์แต่ชีวิตไม่รื่นรมย์ นั่นเป็นเพราะเขาไม่มองหาสมดุลในการดำรงชีวิตกับการทำงาน ทางออกก็คือ จะต้องแสวงหาทางสายกลางระหว่างการทำงานกับการดำรงชีวิตให้เจอ ซึ่งมีสูตรง่ายๆ คือ การทำงานให้ประสานกับคุณภาพของชีวิต นั่นคือผลสัมฤทธิ์ของทางสายกลาง ถ้าคุณแสวงหาทางสายกลางพบแล้ว คุณจะทำงานไปจนแก่จนเฒ่าก็ได้
Q: ธรรมะข้อไหนที่เหมาะกับคนทำงานมากที่สุด
A: หลักอิทธิบาทสี่ของพระพุทธองค์น่าจะเหมาะที่สุด หนึ่ง มีใจรัก สอง พากเพียรทำ คือขอให้ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง ต่อเนื่องงานก็จะประสบความสำเร็จได้ สาม จดจำจ่อจิต คือขอให้ทุ่มเทและอุทิศตน และสี่ วินิจวิจัย คือถ้าเราทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์งานของเราก็จะมหัศจรรย์เสมอ
Q: สังคมในที่ทำงานมักมีการสังสรรค์เพื่อให้เกิดการเข้าสังคม แต่เราไม่ชอบเข้าสังคมด้วยวิธีนี้
A: ถ้าจะดื่มก็ต้องดื่มด้วยความรู้สึกตัว แล้วจะมองเห็นความพอดีอยู่ตรงนั้น แต่ถ้าดื่มแล้วไม่รู้ว่ากำลังดื่ม ดื่มจนสนุกสนานแล้วก็เลยเถิด ปัญหาก็จะตามมาทันที พระอาจารย์เชื่อว่าคำว่า "พอ" จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเราตระหนักรู้ หรือมีอีกวิธีหนึ่งคือ อยู่ตรงนั้น แต่เราแสวงทางออกได้ เช่น คุณดื่มสุรานะ แต่ผมขอเป็นน้ำผลไม้ก็แล้วกัน อันนี้ก็ไม่เสียเพื่อน ไม่เสียสุขภาพ