พอโตขึ้นในช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ความทรงจำเกี่ยวกับธนาคารออมสินมันดูเลือนลางเหลือเกิน จนฉันลืมไปแล้วว่า การออมนั้นมันมีหน้าตาเป็นอย่างไร รู้เพียงอย่างเดียวว่า ในแต่ละเดือนฉันใช้เงินที่พ่อแม่ส่งมาให้ไม่เคยพอ หลายครั้งที่ต้องขอเพิ่มเนื่องจากเหตุผลล้านแปดที่ยกมาอ้าง ไม่ว่าจะเป็น เดือนนี้มีทำรายงานหลายชิ้น ต้องใช้เงินเพิ่ม เดือนนี้ใช้โทรศัพท์มือถือเยอะเกินไป เดือนนี้มีงานวันเกิดเพื่อนหลายงาน โอ้ยยยย มากมายสุดจะบรรยายค่ะ
คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ ด้วยความรักลูก กลัวลูกอด ท่านก็ต้องให้ ดังนั้น เรื่องการออมในสมัยที่ฉันยังเรียนมหาวิทยาลัยก็ลืมไปได้เลยค่ะ หลังจากเรียนจบ มีงานทำ มีเงินเดือนเป็นของตัวเอง ใครหน้าไหนจะกล้าขอเงินพ่อแม่ใช้อีกจริงไหมคะ ฉันจึงจำเป็นต้องบริหารเงินเดือนอันน้อยนิดที่มีอยู่นั้นให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายตลอด 1 เดือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สุดหินจริงๆ เพราะลำพังเงินเดือนเพียง 9,000 บาท (งานแรกเมื่อ 7 ปีที่แล้ว) กับค่าใช้จ่ายที่มากมายรวมไปถึงค่าเช่าอพาร์ทเม้นด้วยแล้ว ใครที่ไหนจะมีเงินออมได้ล่ะคะ กระปุกหมูออมสินก็เลยเป็นพียงแค่วามทรงจำ
การออมและการเปลี่ยนแปลงสู่ความมัธยัสถ์เกิดขึ้นกับฉันจริงๆ หลังจากที่ฉันเริ่มสร้างครอบครัวใหม่ ฉันและสามีต้องย้ายมาอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย อย่างที่ทราบกันดีว่า การใช้ชีวิตในต่างประเทศนั้น ใช่จะสบายซื้อง่ายขายคล่องเหมือนอยู่เมืองไทยบ้านเรา ค่าครองชีพของบ้านเขาก็สูงลิบในแบบที่เราไม่คุ้นเคยมาก่อน
ใครที่เคยใช้เงินอย่างสบายๆที่เมืองไทยพอไปอยู่ต่างแดนก็ต้องเรียนรู้ถึงการประหยัดด้วยกันทุกคนค่ะ ราคาที่พัก อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งของเครื่องใช้ จะว่าไปก็สากเบือยันเรือรบเลยล่ะค่ะที่แพงกว่าบ้านเราทั้งนั้น โดยเฉลี่ยราคาสินค้าที่ออสเตรเลียจะแพงกว่าที่เมืองไทยประมาณ 3-4 เท่า อย่างไรก็ตาม ความถูกความแพงมักจะขึ้นอยู่กับคุณภาพและยี่ห้อของสิ่งเหล่านั้นด้วย
ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า ในอดีตฉันเคยเป็นคนกินทิ้งๆขว้างๆ หากรสชาติไม่ถูกใจแล้วล่ะก็จะหยุดกินซะอย่างนั้นเลยค่ะ นิสัยไม่ดีแบบนี้อย่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะคะ ที่ฉันสามารถทำพฤติกรรมแบบนั้นได้ก็เพราะว่า ข้าวปลาอาหารที่บ้านเราช่างถูกแสนถูก และมีวางขายเรี่ยราดดาดดื่นตามตรอกซอกซอย ไม่ว่าจะเป็น ลูกชิ้นปิ้ง ก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำตก หรือข้าวเหนียวหมูอย่าง มีให้เลือกสรรมากมาย นอกจากนั้น เหล่าพ่อค้าแม่ค้ายังขายกันตั้งแต่เช้าตรู่จนกระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืนเลยทีเดียว เรียกได้ว่า หิวเมื่อไรก็ได้กินเมื่อนั้น ฉันและอาจจะรวมถึงคนไทยคนอื่นๆ ก็เลยมีพฤติกรรมแบบว่า “เลือกได้” ปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไป
แต่พอมาใช้ชีวิตที่เมลเบิร์น อะไรๆก็ไม่เหมือนบ้านเรา โดยเฉพาะราคาอาหารที่เห็นแล้วต้องปวดใจ อาหารอย่างถูกสุดๆที่ขายที่นี่ตกประมาณ สองร้อยกว่าบาท ได้ค่ะ ถ้าอยู่บ้านเรานี่ไปกินฟูจิ โออิชิได้เลยนะคะเนี่ย ส่วนร้านอาหารแบบมีบริการดีๆนั้นไม่ต้องพูดถึงความแพงเลยค่ะ ฉันและสามีเคยไปชิมสเต๊กร้านแพงร้านหนึ่งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้เช็คราคาล่วงหน้าไปก่อน พอเห็นราคาในเมนูแล้วแทบช็อกค่ะ แค่สเต๊กหนัก 300 กรัม 1 ชิ้น ราคาพุ่งสูงถึง 50-60 เหรียญ (ประมาณ 1500 บาท) โอ้ววว แม่เจ้า จะหนีไปทานร้านอื่นก็คงไม่ทันแล้ว ก็เลยต้องทนอยู่ต่อไป นอกจากราคาอาหารที่แพงแล้ว ร้านอาหารที่นี่ยังเลือกเปิดปิดตามเวลาของตัวเองได้อีก ร้านอาหารเย็นทั่วไปมักจะปิดประมาณ 3-4 ทุ่มค่ะ โดยจะไม่เปิดบริการวันจันทร์ด้วยนะ ถ้าใครอยากทานข้าวนอกบ้านวันจันทร์ล่ะก็ หมดสิทธิ์ค่ะ ไปซื้อแมคโดนัลทานก่อนก็แล้วกัน อิอิ
สำหรับใครที่คิดจะประหยัดเรื่องอาหารการกินหากใช้ชีวิตในต่างประเทศล่ะก็ ฉันขอแนะนำให้เริ่มทำอาหารทานเองตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเลยค่ะ ถึงแม้อยู่เมืองไทยจะไม่เคยทำอาหารมาก่อนก็ไม่เป็นไร ของแบบนี้เราหัดกันได้ ขอบอกว่า ถ้าสามารถทำอาหารทานเองที่บ้านได้ จะประหยัดค่าอาหารในแต่ละสัปดาห์ได้มากเลยทีเดียว ยกตัวอย่างครอบครัวของฉัน ฉันจ่ายตลาดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยสิ่งที่ซื้อก็คือ อาหารสด เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาหารแห้ง ขนมปัง และนม โดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละสัปดาห์ ฉันจ่ายค่าอาหารจากซุปเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 50 – 60 เหรียญ ซึ่งในปริมาณที่ฉันซื้อ สามารถทานได้ 2 คน แบบพอดีๆ ค่ะ หากเปรียบเทียบกับการไปทานข้าวนอกบ้านแล้ว ราคาอาหารที่ทำเอง 1 week = ราคาอาหารทานนอกบ้าน 1 มื้อ เห็นไหมล่ะคะว่าทำอาหารเองมันสามารถประหยัดได้มากแค่ไหน
สำหรับคนที่ทำอาหารไม่เก่งก็เริ่มจากการทำอะไรง่ายๆ เช่นอาหารตระกูลไข่ไปก่อนก็ได้ แล้วค่อยพัฒนาไปทำอย่างอื่น ขอยกตัวอย่างสามีของฉันเอง ตอนที่เขามาเรียนต่อที่เมลเบิร์นใหม่ๆ คุณสามีทำอาหารแทบจะไม่เป็นเลยค่ะ ขนาดตอกไข่เพื่อทำไข่ดาวยังดูเก้ๆกังๆ แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก เขาได้เรียนรู้วิธีการทำอาหารหลายอย่าง จนตอนนี้สามารถคิดค้นเมนูใหม่ๆขึ้นเองได้แล้วค่ะ ของแบบนี้มันอยู่ที่ความพยายาม สำหรับตัวฉัน ฉันมักจะลองทำเมนูใหม่ๆอยู่เสมอเพราะฉันเบื่อความซ้ำซากจำเจของอาหาร ฉันเริ่มจากการนึกถึงคาหารที่ตัวเองอยากทาน แล้วก็ลองทำสิ่งนั้นจนกระทั่งประสบความสำเร็จ แต่ก่อนฉันเคยชอบทานกระหรี่พัพไก่ของร้านอาหารไทยร้านนึงมาก แต่ด้วยความที่ฉันเสียดายเงินและต้องการประหยัด ฉันจึงเริ่มหัดทำกระหรี่พัพที่บ้าน ทั้งประหยัดและสะดวก อยากทานเมื่อไรก็เอาไปทอดในกะทะน้ำมันท่วมได้เลยค่ะ ขอบอกว่า ราคากระหรี่พัพที่ขายในร้าน จำนวน 2 ชิ้น = ราคากระหรี่พัพประมาณ 50 ชิ้นที่ฉันทำเอง
อยู่เมืองไทยใครใช้สบู่เหลวเวลาอาบน้ำยกมือขึ้น ฮ่าฮ่าฮ่า ฉันขอยกก่อนใครเพื่อนเลยค่ะ เคยแอบมีความคิดแย่ๆ ว่าใครที่ใช้สบู่ก้อนนี่ช่างเชยจริงๆ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมอาบน้ำมีวางขายมากมายในซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งแบบผสมวิตามิน E เพื่อทำให้ผิวพรรณดีขึ้น แบบ whitening เพื่อทำให้ผิวขาว รวมทั้งมีสินค้าประมาณล้านกลิ่นให้เลือกซื้อเลือกใช้ เวลาจะถูสบู่ทีก็แค่บีบ กด สะดวกจะแย่ แล้วใครยังจะใช้สบู่ก้อนอีกล่ะค่ะ พอย้ายมาอยู่เมลเบิร์นได้สักพัก ฉันก็ต้องขอถอนคำพูดค่ะ ตอนแรกๆ ก็ใช้ครีมอาบน้ำหอมๆ เริ่ดๆ อยู่หรอกนะคะ แต่พอเช็คราคาระหว่างครีมอาบน้ำ กับ สบู่ก้อน แล้ว พบว่า ครีมอาบน้ำที่นี่แพงกว่าสบู่ก้อนอยู่หลายเท่าตัวนัก
ครีมอาบน้ำยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง น้ำหนักประมาณ 500 ml ราคาประมาณ 10 เหรียญ (300 บาท) ส่วนสบู่ก้อนยี่ห้อดังเช่นกัน 1 แพ็ก มี 6 ก้อน ราคา 3 เหรียญ (90 บาท) ถ้าเป็นคุณ คุณจะเลือกเปลี่ยนมาใช้สบู่ก่อนแทนไหมคะ
ปัจจุบันนี้ฉันและสามีใช้สบู่ก้อนอาบน้ำอย่างมีความสุข ไม่ได้แตกต่างจากสบู่เหลวตรงไหน และไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองแสนเชยอีกด้วย ที่สำคัญ ประหยัดกว่าเห็นๆ
จนกระทั่งมามีครอบครัวของตัวเอง มีบ้านเอง และที่สำคัญ ต้องจ่ายค่าสาธารณูปโภคเหล่านี้เอง คนไร้จิตสำนึกในอดีตได้หายไปจากตัวฉันทันที ฉันเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่ใส่ใจพลังงานและสิ่งแวดล้อม ไล่ปิดไฟทุกดวงที่ไม่ได้ใช้ ก่อนออกจากบ้านต้องปิดสวิตช์ไฟด้วย ไม่ใช่แค่กดปิดที่รีโมททีวี ส่วนเรื่องการประหยัดน้ำนั้น ถ้าเป็นฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว ฉันมักจะอาบน้ำแค่วันละ 1 ครั้งเท่านั้น และไม่เกิน 3 นาที สำหรับการกดชักโครก คู่สามีภรรยาสามารถปฏิบัติภารกิจเบา (ปัสสาวะ) ต่อกันได้แล้วรวมกดในครั้งเดียว ข้อนี้ฉันและแบง์ทำเป็นประจำค่ะ
ส่วนการประหยัดไฟในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ยากจนเกินไปก็คือ ครอบครัวเราซื้อหลอดไฟแบบประหยัด ไม่กินไฟมาเปลี่ยนแทนหลอด ที่ land lord (เจ้าของบ้าน) ติดเอาไว้อยู่แล้ว เพื่อลดพลังงานและค่าใช้จ่าย อันนี้เป็นไอเดียของแบงค์ค่ะ บ้านไหนอยากประหยัดก็ลองนำวิธีนี้ไปใช้ดูนะคะ
ขอแนะนำว่าหากคุณมีโอกาสได้กลับเมืองไทยบ้าง ก็อย่าลืมช้อปเสื้อผ้าบ้านเราไว้สำหรับขนไปใส่ยามยากที่ต่างประเทศนะคะ เพราะราคาต่างกันเยอะ ส่วนเสื้อโค้ท เสื้อกันหนาวสามารถซื้อตอนเซลที่ประเทศเมืองหนาวได้ค่ะ อย่างเช่น เสื้อผ้าที่ต่างประเทศเขาจะขายกันเป็น season ตามฤดูกาลของอากาศ หน้าหนาวก็จะขายเสื้อโค้ท เสื้อกันหนาวกันเกลื่อนเมือง ส่วนหน้าร้อนมักจะนิยมเดรสสั้นๆ เสื้อสายเดี่ยว หรือ กางเกงขาสั้น แต่อย่างไรก็ตาม เสื้อกันหนาวก็ยังมีวางจำหน่ายอยู่บ้าง โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนฤดู หากซื้อเสื้อโค้ทในช่วงหมดฤดูหนาวเข้าฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูร้อน จะซื้อได้ในราคาที่ถูกมาก น่าจะลดได้ถึง 70% เลยทีเดียวค่ะ ฉันเคยแอบสำรวจราคาเสื้อโค้ทเก๋ๆตัวหนึ่ง ช่วง winter เสื้อโค้ทตัวนี้ถูกตั้งราคาไว้ถึง 150 เหรียญ (4500 บาท) แต่พอหมดฤดูกาล ราคาของเสื้อ โค้ทตกลงไปอยู่แค่ 45 เหรียญ (1350 บาท) เท่านั้น แต่ด้วยความประหยัดอีกเหมือนกัน ฉันก็เลยไม่ได้ซื้อมันสักที
สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ฉันแนะนำว่า ให้เลือกเติมน้ำมันในวันที่น้ำมันถูกที่สุด โดยปกติแล้วคนที่นี่มักจะนิยมเติมวันอังคารหรือพุธ หากต้องการประหยัดมากกว่านั้น ให้นำคูปองส่วนลดการเติมน้ำมันที่ได้จากการช้อปปิ้งที่ Coles/Safeway supermarket ในราคา 30 เหรียญขึ้นไป มาใช้ควบคู่กับการเติมน้ำมันในแต่ละครั้ง จะได้ลดลิตรละ 4 cent ค่ะ ซึ่งโดยปกติแต่ละครั้งที่ครอบครัวเราเติมน้ำมันจนเต็มถัง จะลดได้ครั้งละประมาณ 2-3 เหรียญ หากทำอย่างนี้ทุกครั้งก็จะเป็นการประหยัดค่าเดินทางลงไปได้เยอะทีเดียว
ทิปส์เล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการมัธยัสถ์ก็คือ การช่างจด หรือทำตารางค่าใช้จ่ายติดไว้ที่บอร์ดในบ้านหรือติดที่ตู้เย็นก็ได้นะคะ เมื่อจับจ่ายอะไรแล้วก็ให้เก็บใบเสร็จไว้เพื่อนำมาจดว่า เราได้สิ้นเงินไปกับอะไรบ้าง พอครบเดือนก็มาคิดหักลบดูว่า เดือนนี้เราเซฟตังค์ไปเท่าไร หรือจะทำเป็นกราฟไว้คอยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็ยิ่งเริ่ด จะได้รู้ว่าเดือนไหนเพิ่ม เดือนไหนลด และควรจะลดค่าใช้จ่ายอะไรได้บ้าง