ชีวิตประจำวันของคุณเต็มไปด้วยความเร่งรีบ อาจทำให้คุณกินอาหารไม่เป็นเวลาและเข้านอนโดยไม่รอให้ย่อย นิสัยเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้
กรดไหลย้อนทำให้เกิดอาการพะอืดพะอม รู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปาก จุก เสียด แน่น เรอ มักเป็นหลังจาก หลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่
อาหารจะผ่านการย่อยทางปากก่อน และผ่านหลอดอาหารเข้าสู่กระเพาะอาหาร ช่วงที่ปลายหลอดอาหารกล้ามเนื้อหูรูด ปิดทางไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหารอีก โรคกรดไหลย้อนเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดทำงานผิดปกติ หย่อนตัว และเปิดทางให้กรดในกระเพาะไหลกลับไปยังหลอดอาหารจนมีอาหารขย้อนไปยังลำคอ ช้าๆ
ถ้าไม่ได้รับการรักษาและปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารอักเสบ เป็นแผลในหลอดอาหาร มีเลือดออก หลอดอาหารตีบ จนกลืนอาหารลำบาก และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งหลอดอาหารได้
“เรามาฝึกนิสัยเพื่อให้คุณห่างไกลโรคกรดไหลย้อนกันดีกว่า”
1. กินอย่างถูกสุขลักษณะ
ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง และอย่าให้แต่ละมื้อผ่านไปอย่างเร่งรีบ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการลุกเดินหลังมื้ออาหาร นั่งนิ่งๆ หลีกเลี่ยงการนอนราบทันที เพราะจะทำให้กระเพาะอาหารย่อยช้า
โดยเฉพาะมื้อเย็นและทิ้งเวลาให้ย่อยอย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน เพราะหากอาหารไม่ย่อยแล้วนอน เป็นผลให้กระเพาะกับหลอดอาหารอยู่ในแนวราบเดียวกัน กรดในกระเพาะจะไหลย้อนกลับสู่หลอดอาหารได้
2. ควบคุมน้ำหนัก
ไขมันใต้ผิวหนังรอบหน้าท้องและไขมันในช่องท้องมีส่วนเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ให้มากขึ้น จนบีบกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย ยิ่งน้ำหนักมากยิ่งมีโอกาสเลี่ยงสูง ดังนั้นควบคุมน้ำหนักให้มาตรฐาน และบริหารรอบเอวเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ ลดไขมันสะสม
3. ใส่ใจอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน
หลีกเลี่ยง อาหารรสจัด เปรี้ยว เผ็ดเกินไป ของมัน ของทอด และอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต เปปเปอร์มินต์ ทำให้หูรูดหลอดอาหารทำงานผิดปกติหรือคลายตัว และเสี่ยงต่อภาวะกรดไหลย้อน เครื่องดื่ม ชา กาแฟ น้ำอัดลม ทำให้ท้องอืด ลมในท้อง เป็นต้น
4. งดดื่มสุราและสูบบุหรี่
ทั้งสารนิโคตินในบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบของและกระเพาะอาหาร
5. หลีกเลี่ยงความเครียด
ความเครียดอาจไม่ได้มีผลโดยตรงต่อโรคกรดไหลย้อน แต่ถ้ามีอาการอยู่แล้ว ความเครียดจะทำให้อาการกำเริบได้ง่ายขึ้น
6. สวมใส่เสื้อผ้าให้สบาย
การใส่เสื้อผ้าคับมีผลให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้นและดันให้กรดไหลย้อน กลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร ดังนั้นพยายามสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมเล็กน้อย ป้องกันอาหารแน่นท้องหลังมื้ออาหาร
7. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหว ระบบทางเดินอาหารจึงทำงานได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารทันที เพราะกระเพาะอาหารอาจย่อยไม่เป็นปกติ ควรเว้นระยะให้อาหารย่อยอย่างน้อย 30 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง
โดย พญ. ดวงพร โชคมงคลกิจ
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร รพ.วิภาวดี
ที่มา : http://www.vibhavadi.com
#news#