2024-09-25

ออสซี่ชี้เปิด "ทัวร์ฉลาม" คุ้มกว่าทำซุป





ใครที่คิดจะหากำไรจากฉลามด้วยการตัดครีบของมันขาย อาจเปลี่ยนใจหากได้ทราบว่า ทัวร์ดำน้ำดูฉลามให้กำไรงดงามกว่า


 

จากการรายงานของเอเอฟพี ทีมนักวิจัยจากออสเตร เลียพบว่า ตลอดชั่วชีวิตหนึ่ง ปลาฉลามที่อาศัยตามปะการังตัวหนึ่งสามารถมีมูลค่าได้เกือบ 2 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 60 ล้านบาท ในธุรกิจการท่องเที่ยว

 


โดยข้อพิสูจน์ของทฤษฎีนี้ มาจากข้อมูลของ "ปาเลา" ประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งระบุว่า สำหรับเศรษฐกิจในบางท้องถิ่นของประเทศ ฉลามตัวเป็นๆ มีมูลค่ามากกว่าฉลาม ที่ตายแล้วหลายเท่า ซึ่งทีมนักวิจัยพบว่า ฉลามปะการังตัวหนึ่งๆ ในสถานที่ดำน้ำสคูบาแห่งใหญ่ของปาเลา ทำรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ รวมแล้วเท่ากับ 5.4 ล้านบาทต่อปี หรือเท่ากับ 60 ล้านบาทตลอดชีวิตของฉลาม

 


"เมื่อพูดกันตามจริง สปีชีส์ต่างๆ ของฉลามมีค่าได้ถึง "ล้านดอลลาร์" และฉลามก็สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งได้" มาร์ก เมกัน ผู้เขียนงานวิจัยคนสำคัญ และนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย กล่าว "การวิจัยของเราชี้ว่าสัตว์พวกนี้ให้ประโยชน์ได้มากกว่า ในฐานะที่เป็นทรัพยากรธุรกิจการท่องเที่ยวมากกว่าเหยื่อการจับปลา"

 


นอกจากนี้ แม็ต แรนด์ นักวิจัยอีกคนหนึ่งและผู้เชี่ยวชาญเรื่องฉลามจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพีว กล่าวด้วยว่า งานวิจัยชิ้นนี้ก่อให้เกิดแรงจูงใจ ในการชักชวนให้อีกหลายประเทศหันมาอุ้มชูสัตว์พวกนี้ เพื่อประโยชน์ของพวกเขาในแง่ของท้องทะเล และเพื่อรายได้ของพวกเขาในแง่ของความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจ

 


ทั้งนี้ ในปี 2552 ปาเลาเป็นประเทศแรกที่ประกาศให้เขตน่านน้ำของตนเป็นเขตรักษาพันธุ์ปลาฉลาม ก่อนที่ประเทศฮอนดูรัสและมัลดีฟส์จะประกาศตามมา ในขณะที่รัฐฮาวาย เกาะกวม และหมู่เกาะนอร์เธิร์นมาเรียนาของสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชล ได้แบนการครอบครอง การขายหรือจำหน่ายครีบฉลาม


 

ปัจจุบัน ฉลามจำนวนแสนล้านตัวทั้งในเขตชายฝั่งและห่างจากชายฝั่งได้ถูกล่าในทุกๆ ปี เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคเนื้อฉลาม โดยเฉพาะซุปหูฉลาม ในขณะที่โดยธรรมชาติแล้ว ฉลามเติบโตเต็มวัยช้าและมีลูกไม่มากอีกด้วย จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูญพันธุ์อย่างมาก

NATUI Officially 2011-05-09 22:13:32 10779