2024-11-06

ค้นพบใหม่ 7 ดวง-ดาวหางในระบบสุริยะอื่น




 

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวหางนอกระบบสุริยะของเราเพิ่มอีก 7 ดวง เพิ่มโอกาสแพร่กระจายสารตั้งต้นของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์

 

เมื่อวันอังคาร แบร์รี เวลส์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์ นำเสนอผลวิจัยต่อที่ประชุมสมาคมดาราศาสตร์อเมริกันครั้งที่ 221 ที่เมืองลองบีช ว่า เขาได้ค้นพบดาวหาง 7 ดวงหลังจากวงการวิทยาศาสตร์เคยค้นพบดาวหางนอกระบบ หรือ "exocomet" ครั้งแรกเมื่อปี 2530 และนับจากนั้นเพิ่งเจออีก 3 ดวง

 

#news#

 

ดาวหางนอกระบบสุริยะของเรา เป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ยาก แม้แต่ดาวเคราะห์ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าก็ยังค้นพบไม่ได้ง่ายนัก

 

หากพิสูจน์ได้ว่า ดาวหางเป็นวัตถุที่มีอยู่ทั่วไปในจักรวาล ย่อมเพิ่มโอกาสที่จะค้นพบสิ่งมีชีวิต เพราะดาวหางมีน้ำ และเชื่อว่าสารเคมีที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตอาจติดไปกับดาวหาง และแพร่ไปยังดาวเคราะห์ต่างๆ

 

เวลส์กับนักวิจัยร่วม ชารอน มอนต์โกเมอรี แห่งมหาวิทยาลัยแคลเรียน ได้ใช้กล้องดูดาว แม็กโดนัลด์ ในมลรัฐเท็กซัส สังเกตหางที่สว่างเป็นทางยาวของดาวหางพวกนี้ ทำให้พบดาวหาง 7 ดวง

 

ในระบบสุริยะของเรานั้น ดาวหางมักหลุดออกมาจากแถบวงแหวนคอยเปอร์ (Kuiper belt) ซึ่งเป็นแผ่นจานของสะเก็ดหิน ฝุ่น และน้ำแข็ง ซึ่งอยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไป และดาวหางบางส่วนก็มาจากเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เกือบ 1 ปีแสง

 

ดร.เวลส์บอกว่า แผ่นจานเหล่านี้เป็นส่วนที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ ภายในแผ่นจานมีทั้งดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย เมื่อวัตถุเหล่านี้ถูกรบกวนการโคจร บางส่วนได้เบี่ยงเส้นทางเข้าหาดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะ การรบกวนนี้อาจเกิดจากดาวหางชนกันเอง หรือได้รับอิทธิพลจากแรงดึงดูดของดาวเคราะห์

 

เขาบอกว่า ตามทฤษฎีนั้น ดาวหางอาจส่งผลต่อวิวัฒนาการของระบบสุริยะได้ใน 2 ลักษณะ ดาวหางที่รุมถล่มดาวเคราะห์ในยุคแรกเริ่มได้นำเอาน้ำแข็งมาด้วย น้ำแข็งได้ละลาย แล้วต่อมาก็เกิดเป็นมหาสมุทร

 

อีกทฤษฎีหนึ่ง บอกว่า โมเลกุลของสารอินทรีย์ในดาวหาง เป็นต้นธารของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ ถ้าดาวหางมีอยู่ทั่วไปในระบบดาวเคราะห์ต่างๆ ก็อาจเป็นไปได้ว่า ดาวเคราะห์เหล่านั้นจะมีสิ่งมีชีวิต

 

Source : BBC

NATUI Officially 2013-01-10 14:20:50 7342