น่าตกใจไม่น้อยที่มีข้อมูลออกมาว่า ชาวไทยเสียชีวิตเฉลี่ย 6 คนต่อชั่วโมงจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสิ่งที่เรียกว่า “อนุมูลอิสระ” ต้นตอของอนุมูลอิสระมีอยู่ทั้งภายนอกและภายในร่างกายของคนเรา ภายนอกได้แก่มลพิษในอากาศ ควันบุหรี่ แสงแดด รังสีแกมมา คลื่นความร้อน ฯลฯ ส่วนภายในคือกระบวนการเผาผลาญออกซิเจนในเซลล์ การย่อยทำลายเชื้อแบคทีเรียของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็สามารถทำให้เกิดอนุมูลอิสระได้เช่นกัน
จากการวิจัยพบว่าสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินอี วิตามินซี และ เบต้าแคโรทีน ทั้ง 3 ตัวสามารถกำจัดอนุมูลอิสระได้ โดยวิตามินซีซึ่งละลายน้ำจะทำหน้าที่จับอนุมูลอิสระในเซลล์ที่เป็นของเหลว ป้องกันไม่ให้เซลล์ถูกอนุมูลอิสระทำลาย ส่วนวิตามินอีละลายในไขมัน ช่วยยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระ
วิตามินเอซึ่งละลายในไขมันและอยู่ในรูปของเบต้าแคโรทีนหรือแคโรทีนอยด์ มีในอาหารธรรมชาติกว่า 600 ชนิด ทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์ ป้องกันเนื้องอก และมีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น ลดความเสี่ยงการเสื่อมของตาเนื่องจากสูงอายุ ลดการเกิดต้อกระจก โรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี
กรมอนามัยได้ทำการศึกษาแหล่งอาหารไทยที่มีสารต้านอนุมูลอิสระทั้ง 3 ตัวนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่งเสริมให้ประชาชนทั่วประเทศได้บริโภคสารสำคัญนี้อย่างต่อเนื่องทุกวัน โดยศึกษาผลไม้ที่มีการบริโภคในประเทศไทย 83 ชนิด ในปริมาณ 100 กรัม
พบว่าผลไม้ที่มีสารเบต้าแคโรทีนมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สุก (873 ไมโครกรัม) รองลงมาได้แก่ มะเขือเทศราชินี (639 ไมโครกรัม) มะละกอสุก (532 ไมโครกรัม) มะปรางหวาน (230 ไมโครกรัม) แคนตาลูปเหลือง (217 ไมโครกรัม) มะยงชิด (207 ไมโครกรัม) สับปะรดภูเก็ต (150 ไมโครกรัม) แตงโม (122 ไมโครกรัม) ส้มสายน้ำผึ้ง (101 ไมโครกรัม) และ ลูกพลับ (93 ไมโครกรัม
ผลไม้ที่มีวิตามินอีสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ ขนุนหนัง (2.38 มิลลิกรัม) มะขามเทศ (2.29 มิลลิกรัม) มะม่วงเขียวเสวยดิบ (1.52 มิลลิกรัม) มะเขือเทศราชินี (1.34 มิลลิกรัม) มะม่วงเขียวเสวยสุก (1.23 มิลลิกรัม) มะม่วงน้ำดอกไม้สุก (1.1 มิลลิกรัม) มะม่วงยายกล่ำสุก (0.97 มิลลิกรัม) กล้วยไข่ (0.67 มิลลิกรัม) แก้วมังกรเนื้อสีชมพู (0.59 มิลลิกรัม) และสตรอว์เบอร์รี่ (0.54 มิลลิกรัม)
ส่วนผลไม้ที่มีวิตามินซีมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ ฝรั่งกลมสาลี่ (187 มิลลิกรัม) ฝรั่งไร้เมล็ด (151 มิลลิกรัม) มะขามป้อม (111 มิลลิกรัม) มะขามเทศ (97 มิลลิกรัม) เงาะโรงเรียน (76 มิลลิกรัม) ลูกพลับ (73 มิลลิกรัม) สตรอว์เบอร์รี่ (66 มิลลิกรัม) มะละกอแขกดำสุก (55 มิลลิกรัม) พุทราแอปเปิ้ล (47 มิลลิกรัม) และส้มโอขาวแตงกวา (45 มิลลิกรัม)
เห็นอย่างนี้แล้วก็รู้ได้เลยว่า ไม่ยากสักนิดที่เราจะลดอัตราเสี่ยงการเป็นมะเร็ง แค่พยายามหาผลไม้ไทยที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี มารับประทานเป็นประจำ เท่านั้นก็ช่วยได้เยอะแล้ว
นอกจากดีต่อสุขภาพ การหาซื้อผลไม้ไทยมารับประทานกันเยอะๆ ยังดีต่อเศรษฐกิจของชาติด้วย ในแง่ที่ช่วยลดการนำเข้าผลไม้จากเมืองนอก เงินตราที่ไหลออกนอกประเทศก็น้อยลง
เรียกว่าได้ประโยชน์แบบ “สองเด้ง” เลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ฝ่ายวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ