ปิดตำนานร้าน “อิ่ม”
9 ธันวา.... สิ้นเสียงเคาะกะทะ ร้านอาหารไทยในผับ!
นับเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ กระหึ่มวงการคนกลางคืนและคนไทยในซิดนีย์ สำหรับเรื่องราวร้าน “iima” ในภาษาญี่ปุ่น หรือร้าน “อิ่ม” ในภาษาไทย
ที่เป็นร้านอาหารในผับที่ประสบความสำเร็จที่สุด ซึ่งมีอันต้องยุติการดำเนินการลงอย่างน่าเสียดาย ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้หลังเปิดกิจการมาได้ 5 ปีเต็ม ในผับ “Mr B’s” ถนน Pitt ร้านอิ่มแห่งนี้ มีสตอรี่ มีเรื่องราว มีเส้นทางความเป็นมาที่น่าสนใจไม่น้อย การต้องยุติการดำเนินกิจการ อย่างกระทันหันแบบนักกินนักเที่ยวกลางคืนไม่ทันได้เตรียมตัวเตรียมใจ จึงเป็นเรื่องที่ใครๆ กระหายใคร่อยากรู้ อยากทราบถึงสาเหตุ....!!!!
หลายคนอาจจะมองว่าร้านอิ่ม เป็นเพียงแค่ร้านอาหารธรรมดาๆ แต่หากมองให้ลึกลงไป ร้านอาหารไทยในผับร้าน
นี้ เป็นร้านที่ไม่ธรรมดานะครับ เพราะร้านนี้ถือเป็นจุดนัดพบ จุดศูนย์รวมของคนไทยในซิดนีย์อีกแห่งหนึ่ง เป็นร้านแฮงค์เอาท์ชิลๆ ที่เหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของใครหลายๆ คนที่เหงาไร้เพื่อนต้องการมาผ่อนคลาย เติมความสุข สร้างความสนุกสนานให้กับตัวเอง หลังเสร็จสิ้นการทำงานอันเหน็ดเหนื่อย หรือแม้แต่ใครจะตามหาใคร อยากเจอใคร มาที่ร้านนี้ไม่มีผิดหวัง นอกจากนี้หลายคนยังได้รับโอกาสที่ดี พลิกชีวิตตัวเองจากการมาเที่ยวร้านนี้ด้วยเช่นกัน
แต่ “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ทุกวัน ทุกเวลา ทุกนาที ไม่ว่ากับใครก็ตาม...!!!!
กว่าจะมาเป็นร้าน “อิ่ม” ที่สามารถผงาดยืนในเส้นทางของร้านอาหารในสถานบริการยามค่ำคืน ระดับแนวหน้าและมีชื่อเสียงโด่งดังในซิดนีย์ “น้าตุ๋ย และ น้าเล็ก” สองสหายที่เป็นเพื่อนน้ำมิตรอย่างแท้จริง ได้บุกเบิกร้านนี้ และต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ นานา อย่างมากมายก่ายกองตั้งแต่เปิดร้าน เพื่อให้คนไทยได้มีร้านกิน ร้านดื่ม ที่มีความบันเทิงทัดเทียมกับร้านต่างชาติจนบูมมาถึงทุกวันนี้ ชนิดฝรั่งเองยังต้องทึ่ง
พี่เล็ก หรือน้าเล็ก-อุทัยวรรณ ชุมวรฐายี ที่เหล่านักท่องราตรีมักเรียกขานเสมือนเป็นญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง เล่าว่า หลังเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาทีซิดนีย์เมื่อปี 1983 โดยความตั้งใจแรก ต้องการเพียงแค่เพื่อมาเที่ยว แต่เมื่อมาเห็นสภาพบ้านเมืองของซิดนีย์ ที่มีแต่ความน่าอยู่และมองเห็นอนาคตที่ดีกว่า จึงคิดลงหลักปักฐาน เริ่มจากไปทำงานเสริฟอาหารอยู่ที่ร้านอู่ทอง พร้อมกับชักชวน “น้าตุ๋ย-อมรรัตน์ จันต๊ะ” เพื่อนรักเดินทางจากเมืองไทย
ตามมาสร้างอนาคตด้วยเช่นกัน จนเวลาผ่านไปนานและรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่ง น้าเล็กจึงชวนน้าตุ๋ยมาหาอะไรทำด้วยกัน เพื่อจะได้เป็นจุดศูนย์รวม จุดนัดพบของเพื่อนๆ โดยเป้าหมายแรกทั้งคู่คิดไปเปิดร้านอาหารด้วยกันที่เมลเบิร์น แต่หาจุดที่เหมาะสมไม่ได้ ประจวบเหมาะกับเจ้าของผับ Mr B’s ได้ชักชวนให้น้าตุ๋ยมาทำอาหารในผับ บริการนักท่องเที่ยวกลางคืนพอดี น้าตุ๋ยกับน้าเล็กจึงจับมือกันร่วมบุกเบิกสร้างร้านอิ่ม ให้เกิดขึ้นในยุทธจักรร้านอาหาร ที่แหวกแนวกว่าร้านอาหารทั่วไป นั่นคือเป็นร้านอาหารไทยในผับ โดยน้าตุ๋ยกับน้าเล็กปลุกปั้นตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้างผับแห่งนี้ สร้างเมนูอาหารที่เจ้าของผับเน้นว่าต้องเป็นอาหารไทยกับญี่ปุ่นเท่านั้น จนในที่สุดร้าน “อิ่ม” ก็ได้ฤกษ์เปิดบริการนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552
พอทำไปได้ระยะหนึ่ง ร้านเริ่มเวิร์ค ลูกค้าเริ่มติด เพราะเปิดขายตั้งแต่มื้อกลางวันโดยมีแขกทั้งชาวไทยและชาวต่าง ชาติหลั่งไหลมากิน แต่ก็ต้องประสบปัญหาให้ต้องไฟท์ติ้งกันอีกยกใหญ่ เนื่องจากผู้จัดการคนเดิมต้องการต้อนรับแต่แขกต่างชาติ โดยเฉพาะชาวออสซี่ ไม่เน้นคนไทย ทว่าน้าเล็กและน้าตุ๋ยกลับเห็นตรงกันข้าม จึงต่อสู้ให้เจ้าของผับเปลี่ยนแนวคิดหันมาต้อนรับแขกคนไทยจนสำเร็จ เพราะทั้งน้าตุ๋ย และน้าเล็กมองว่าหลังเที่ยงคืนไปแล้ว แขกต่างชาติจะน้อยกว่าแขกคนไทย รวมถึงการเปิดเพลงในผับที่น้าตุ๋ยต้องการให้เป็นเพลงไทย และมีวงดนตรีคนไทย เพื่อให้เด็กไทยที่มาเรียนหรือคนไทยในซิดนีย์ ได้มีแหล่งสังสรรค์ในบรรยากาศผับแบบไทยๆ แต่มีความทันสมัยไม่แพ้ที่อื่นซึ่งในที่สุดการต่อสู้ในเรื่องเพลงไทยก็เป็นผลสำเร็จเช่นกัน แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มี
แขกต่างชาติเข้าร้าน เพราะในช่วงกลางวันที่น้าเล็กเปิดขายอาหารแบบมาราธอน คือตั้งแต่ 11.00น. ไปจนถึงตี 2 ที่ผับเลิก จะมีแขกต่างชาติเข้ามาทานอาหารไทยไม่ขาดสาย เนื่องจากติดใจในรสชาติอาหารที่น้าเล็กตั้งใจทำอย่างสุดฝีมือ และควบคุมคุณภาพเองทุกขั้นตอน
เมื่อถูกถามว่าแม้มีอุปสรรคอยู่ตลอดเวลาในการดำเนินงาน เหตุใดน้าเล็กถึงยังคงอยู่มาได้จนถึงเข้าปีนี้เป็นปีที่ 5 เจ้าตัวตอบเสียงดังฟังชัดว่า...ก็เป็นเพราะมีความผูกพันกับทั้งแขกและสถานที่ทำให้มีกำลังใจที่จะยืนหยัดดำเนินกิจการต่อไป
สำหรับที่มาของชื่อร้าน “iima” หรือ “อิ่ม” เกิดจากไอเดียของ “กั๊ต-กุลพรรธน์ เหล่ายนตร์ ลูกชายคนเก่งของน้าตุ๋ย ที่ได้ชื่อนี้จากการที่นั่งอยู่ที่
หน้าร้านอาหาร Chat thai ทุกวันจะได้ยินลูกค้าที่เดินออกจากร้านแล้วมักจะอุทานคำว่า "อิ่ม" กันทุกคนเมื่อกินเสร็จ จึงสะดุดหูกับคำนี้ ส่วนคำว่า iima ที่เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึงตอนนี้,ขณะนี้ ซึ่งเป็นความหมายที่ดีทั้งสองคำ จึงนำมาใช้เป็นชื่อร้าน และถือว่าถูกโฉลกจริงๆ เพราะร้านนี้โตวันโตคืน คนที่มาร้านนี้ จะอิ่มทุกอย่าง ไม่ว่าอิ่มอาหาร อิ่มความสุขและอิ่มกับเสียงเพลง และภูมิใจที่คนติดชื่อนี้เมื่อนึกถึงสถานที่ที่ทำให้มีแต่ความสุขว่าไปร้าน.."อิ่ม" กัน
เรื่องของอาหารนั้น เรียกได้ว่าน้าเล็กเป็นอีกคน ที่มีพรสวรรค์เรื่องการทำอาหารมากที่สุด โดยหยิบเอาอาหารที่มองดูว่าธรรมดาๆ มาประยุกต์ปรุงแต่งและรังสรรค์ให้เป็นอาหารจานพิเศษ ทุกคนที่เข้ามาทานต่างยกนิ้วให้ว่าอาหารร้านอิ่ม เป็นอาหารที่มีมาตรฐานทั้งในเรืองของความอร่อย ความสะอาดและความมีคุณภาพ เพราะน้าเล็กเป็นคนที่พิถีพิถัน ใส่ใจในอาหารทุกเมนูที่คิดค้น
และที่สำคัญมีรสชาติแบบคงเส้นคงวา ไม่ว่าจะเป็นพ่อครัวแม่ครัวคนไหนเปลี่ยนมือมาทำ ก็จะได้รสชาติอาหารที่อร่อยเป๊ะเท่ากันหมด ไม่ว่าจะมากินเมื่อไหร่ ไม่มีผิดหวัง ไม่มีขมลิ้นหรือขื่นคอ หรือสร้างความรำคาญให้พยาธิในกระเพาะ ด้วยสูตรมาตรฐานที่น้าตุ๋ยน้าเล็กจัดทำขึ้นมา ทำให้ร้านอิ่มได้ชื่อว่าเป็นร้านอาหารที่มีรสชาติเสถียรที่สุด ผิดกับร้านอาหารส่วนใหญ่ที่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวพ่อครัวหรือแม่ครัว แขกจะรู้ทันทีเพราะรสชาติอาหารจะเปลี่ยนไป
ส่วนอาหาร
ที่เป็นพระเอกนางเอกของร้าน ชนิดใครไปใครมาต้องสั่งกินทุกโต๊ะ นั่นก็คือ “ต้มยำไข่ปลา” ที่รสชาติแซ่บบบหลายแบบไทยแท้ๆ ลูกค้าซดน้ำกันจนเกลี้ยงชาม บอกได้เลยว่าร้านไหนก็ไม่เหมือนที่นี่ “ไก่เกลือ” ที่น้าเล็กใช่ปีกกลางไก่ไซสต์กำลังดีมาคลุกเคล้าเกลือแล้วทอดจนเหลืองกรอบ “กุ้งแช่น้ำปลา” ที่อร่อยเผ็ดเด็ดสะระตี่ “ตำมั่ว” ที่มะละกอนัวจนเส้นสุดท้าย “ตับหวาน” หรือ “ไส้ย่าง” ที่ปรุงรสชาติอย่างพอเหมาะพอเจาะ “กุ้งแพ” ที่แม้มองดูธรรมดาแต่กรอบอร่อยในแบบของร้านอิ่ม หรือกระทั่งอาหารจานเดียวอย่าง ผัดไทยเนื้อ ข้าวคลุกน้ำพริกลงเรือ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งอาหารช่วงกลางวันก็ต้องบอกว่าสุดยอดจริงๆ ครับ
ที่สำคัญและถือเป็นเมนูหนึ่งเดียวในซิดนีย์ ที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างของร้านนั่นก็คือ “โรเต็บ” ที่น้าเล็กคิดค้นสูตรขึ้นมาจากมันสมองของตัวเองล้วนๆ ไม่มีลอกเลียนแบบใครให้ต้องอายคน จนประสบความสำเร็จเป็นของกินอีก 1 จาน ที่ทุกคนมาแล้วต้องไม่พลาดการชิม ถือเป็นเมนูเรียกแขก เพราะความแปลกใหม่ไม่มีใครเหมือน
แต่ละวัน น้าเล็กจะไม่ไปไหน คอยดูแลบริการแขกในร้าน ตั้งแต่เปิดร้านจนปิดร้าน ชนิดชีวิต จิตใจ ทุ่มให้กับร้านนี้หมด เพราะที่นี่ก็เป็นเหมือนบ้านของน้าเล็ก โดยมีพ่อครัวแม่ครัว เด็กเสริฟ คนล้างจาน เป็นเหมือนลูกหลานที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน
“น้าเล็ก” ผู้หญิงใจใหญ่ บอกว่า สิ่งที่ชื่นใจมากและเป็นกำลังใจที่ดีที่สุดในการทำร้านอิ่ม ไม่ใช่เรื่องของเงินทองหรือความร่ำรวย แต่คือ “คำชม” ว่าอาหารที่นี่อร่อย จากปากแขกทุกคนที่มากิน แต่เมื่อมีอันต้องยุติกิจการ ที่เกิดขึ้น
อาจเป็นเพราะเจ้าของผับ “น่าจะต้องการความเปลี่ยนแปลงแบบพิเศษ” โดยได้มีการมาขอให้หยุดกิจการร้าน น้าเล็กก็ขออำเวลาเวที แม้ว่าจะมีคนมาทาบทามติดต่อให้ไปทำร้านอาหารในผับอื่นๆ อีกมากมายหลายแห่ง หลังได้รับการยื่นโนติ๊สจากเจ้าของผับเพียงวันเดียว แต่น้าเล็กก็ขอแขวนตะหลิว แขวนกระทะ ยุติบทบาทการทำร้านอาหารภายใต้หลังคาบ้านคนอื่น ขอยืนแบบมีศักดิ์ศรี ทิ้งร้าน “อิ่ม” เป็นตำนานให้ชาวซิดนีย์กล่าวขานและรำลึกถึงตลอดไป
อย่างไรก็ตาม ร้านอิ่ม จะเจริญเติบโตก้าวเดินไม่ได้ ถ้าขาดบุคคลที่เป็นเสมือนเครื่องจักรสำคัญชิ้นหนึ่งของร้าน นั่นก็คือบรรดาพ่อครัว แม่ครัว กับบุคคลากรด้านอื่นๆ และเมื่อมีอันต้องแยกย้ายกันไป หลายคนที่มีความรู้สึกรัก และผูกพันกับร้าน ย่อมต้องเกิดความรู้สึกใจหาย เสียดาย อาลัยอาวรณ์ อย่างเช่น น้องตุ้ย-จิรภรณ์ ยิ่งประเสริฐ สาวเชียงใหม่ แม่ครัวมือวางอันดับหนึ่ง ที่ร่วมบุกเบิกร้านนี้มาพร้อมๆ กับน้าเล็ก ช่วยกันสร้าง ช่วยกันเซ็ต ปั้นร้านอิ่ม จนกลายเป็นร้านโปรดในดวงใจของนักเที่ยว นักกินมามากมายหลายต่อหลายคน
น้องตุ้ย เล่าว่า เคยเป็นเชฟที่อื่นมาก่อน เมื่อน้าเล็กชวนมาทำร้านอิ่ม ก็ตกลงใจมาร่วมงานอย่างไม่ลังเล เริ่มตั้งแต่มาเซ็ตร้าน ช่วยกันคิดค้นเมนูอาหารของร้าน ทดลองทำ ทดลองชิม ปรับไปปรับมาจนได้อาหารที่มีรสชาติอร่อยลงตัว โดนใจนักกิน ซึ่งพนักงานในครัวทุกคนสามารถทำอาหารทุกอย่างได้เหมือนกันหมด และรสชาติเดียวกั น เพราะน้าเล็กวางระบบไว้เป็นอย่างดี ดูแลใส่ใจอาหาร ไม่ว่าการทำหรือการจัดจานทุกขั้นตอน ก่อนนำไปเสริฟให้ลูกค้า และดีใจทุกครั้งที่มีลูกค้าชมว่าอาหารอร่อย หรือทราบว่าบางคนมาที่ร้านนี้ เพื่อต้องการกินอาหารที่ไม่มีทีไหนเหมือน โดยเฉพาะต้มยำไข่ปลาและตำมั่ว
“ส่วนความรู้สึกเมื่อรู้ว่า ต้องถึงคราวอำลา ปิดครัว ปิดเตาแก๊ส เลิกยืนปาดเหงื่อ ทนไอร้อน กลิ่นควัน เวลาทำกับข้าวที่ร้านนี้ เป็นธรรมดาของคนที่มีความผูกพันกับร้านที่ต้องใจหาย ไม่ได้เสียใจที่ต้องตกงาน แต่เสียใจที่ไม่ได้มีโอกาสทำอาหารอร่อยๆ ให้แขกที่ร้านนี้กินอีกแล้ว แต่ถ้าน้าเล็กไปเปิดร้านอาหารแห่งใหม่ที่ไหน ก็จะไปช่วยน้าเล็ก เพราะที่ผ่านมาเราอยู่กันแบบครอบครัว น้าเล็กดูแลทุกอย่างทั้งเรื่องงานเรื่องส่วนตัว ซึ่งก็คงไม่ทิ้งกัน แม้จะมีคนมาทาบทามให้อยู่ต่อที่ร้านนี้ แต่ขออยู่กับน้าเล็กดีกว่า”
บุคคลากรสำคัญอีกคนในร้าน คือ น้องโอ-วริศรา มหายศนันท์ สาวเมืองน่านวัย 33 ปี ที่มีวิทยายุทธการทำอาหารไม่แพ้ใคร เผยความรู้สึกในใจว่า ดีใจที่สุดที่ลูกค้าชอบกินตำมั่วของที่ร้าน มาทำงานกับน้าเล็กตั้งแต่เปิดร้าน แต่พอทำงานเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ก็ขอลาน้าเล็กกลับไทยไปสร้างบ้านให้ใพ่อแม่ จนระยะหนี่งก็คิดถึงน้าเล็ก เป็นห่วงว่าจะไม่มีใครช่วย เพราะอยู่กับน้าเล็กจนรักและผูกพันกันเหมือนญาติ จึงกลับมาช่วยงานที่ร้านอีกครั้ง เมื่อรู้จากน้าเล็กว่าร้านต้องหยุด ไม่ไปต่อ ก็ใจหาย แฟนซึ่งทำงานร้านเดียวกัน โดยมีหน้าที่ล้างจาน ก็เสียใจเหมือนกัน
“น้าเล็กเป็นคนกันเอง ดูแลพนักงานเหมือนลูกหลาน และคงร้องไห้ในวันสุดท้ายของการทำงานที่นี่ เพราะได้ช่วยน้าเล็กขนของเข้าร้านมาด้วยกัน ตั้งแต่วันเริ่มเปิด และคงจะต้องช่วยกันขนของออกไปด้วยกันในวันที่ร้านต้องปิด ซึ่งในห้วงเวลานั้นมันคงเป็นความรู้สึกที่ยากจะบรรยายได้..”
นี่ก็เป็นความรู้สึกของคนที่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกันของร้าน “อิ่ม” แม้จะยอมรับ ทำใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิด
ขึ้น แต่ในแว่บหนึ่งของหัวใจ ก็อดที่จะใจหายไม่ได้
ขณะที่น้าเล็ก-น้าตุ๋ยขอกล่าวคำสุดท้ายผ่าน “ไทยเพรส” ก่อนถึงวันอำลาและนาทีรูดม่านปิดตำนานร้าน “อิ่ม” ว่า ขอบคุณลูกค้าทุกคนที่รักร้านอิ่มและทำให้ร้านอิ่มแจ้งเกิด ขอบคุณในทุกความผูกพัน ที่มีให้กันมาตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่ออาหารจานสุดท้ายออกเสริฟ และแสงไฟดวงสุดท้ายของร้านปิดลงในคืนวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ก็คงรู้สึกใจหายบ้างและจะขอเก็บทุกอย่างของร้าน “อิ่ม” ไว้เป็นความทรงจำที่ดีตลอดไป ส่วนโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เราทั้งคู่มีแผนคิดทำกันต่อไปนั้น ขอแง้มว่าเป็นโปรเจ็กต์ใหม่ในอนาคตภายใต้หลังคาบ้านของตัวเอง โปรดอดใจรอสักครู่...
ครับ...ด้วยศักยภาพและความสามารถของ น้าตุ๋ยและน้าเล็ก ผมเชื่อว่า โปรเจ็กต์ใหม่ในอนาคตข้างหน้า คงไม่ธรรมดาแน่นอน คอนเฟิร์ม...!!!!!
By...คนมันเท่