เนื่องจากสภาวะอากาศในช่วงฤดูหนาว อากาศจะมีความชื้นสัมพัทธ์ลดลง การสูญเสียน้ำออกจากผิวเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นปัญหาผิวส่วนใหญ่ของคนไทยในช่วงฤดูหนาว จะเป็นปัญหาในเรื่องของผิวแห้ง หยาบ เมื่อผิวแห้งมากๆ ก็จะเกิดอาการคัน มีผื่นขุย และมีโอกาสแตกเป็นแผลและติดเชื้อแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงต่อการพบภาวะผิวแห้ง หรือ ผื่นคันเห่อในช่วงฤดูหนาวได้แก่
1. ผู้สูงอายุ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสรีระ ของผิวหนังหลายประการ เช่น ปริมาณไขมันในชั้นผิวหนังลดลง การทำงานของต่อมเหงื่อลดลง ทำให้เกิดภาวะผิวแห้งได้ง่ายขึ้น
2. บุคคลที่มีภาวะผิวหนังผิดปกติอื่นๆ เช่น เด็กหรือผู้ใหญ่ที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอยู่ก่อน ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผิวจะแห้ง และผื่นจะเห่อมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว
3. บุคคลที่มีโรคประจำตัวบางชนิด หรือ รับประทานยาบางกลุ่ม จะทำให้มีผิวแห้งมากกว่าคนปกติ เช่น คนที่เป็นโรคตับหรือโรคไต จะมีผิวแห้งมากกว่าปกติ หรือผู้ที่รับประทานยากลุ่มยาลดไขมันบางตัว ยาขับปัสสาวะ เป็นต้น
4. ปัจจัยเสริมบางประการ เช่น การอาบน้ำบ่อยๆ โดยใช้สบู่อาบน้ำที่มีค่าความเป็นด่างสูง หรือ ชอบอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน การขัดผิวหรือใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวถี่เกินไป
ดังนั้นการดูแลรักษาภาวะผิวแห้งในฤดูหนาว หลักๆ ก็คือ
1. การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสริมข้างต้น เช่น การอาบน้ำจะแนะนำใช้น้ำที่อุณหภูมิห้อง ใช้สบู่อ่อน และไม่แนะนำการขัดผิวในผู้ที่มีผิวแห้ง หรือมีผื่นผิวหนังอักเสบง่ายอยู่แล้ว
2. การใช้ครีม หรือโลชั่นบำรุงผิว จะช่วยลดอาการผิวแห้ง ป้องกันการเกิดอาการคัน หรือผื่นผิวหนังอักเสบได้ โดยเนื้อครีมจะให้ความชุ่มชื้น และเก็บกักความชุ่มชื้นให้กับผิวได้มากกว่าเนื้อโลชั่น แต่เนื้อโลชั่นจะให้ความรู้สึกที่ทาแล้วไม่เหนอะหนะ สบายผิวมากกว่า ทั้งนี้หากผู้ที่มีภาวะผิวแห้ง แต่ไม่ชอบความเหนอะหนะ อาจทาเป็นโลชั่นได้แต่แนะนำทาบ่อยครั้งมากขึ้น นอกจากครีมหรือโลชั่นแล้ว อาจใช้เป็นน้ำมัน หรือขี้ผึ้งทาบริวเณที่แห้งแตกได้เช่นกัน
3. หากมีผื่นคันเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิวแห้งแล้ว แนะนำพบแพทย์เฉพาะทาง เนื่องจากอาจต้องใช้ยาทา หรือยารับประทานเพื่อช่วยรักษาอาการผื่นคัน ทั้งนี้แนะนำงดการแกะเกา เพราะจะเกิดการระคายเคือง เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้น และ ติดเชื้อแทรกซ้อนได้
นอกจากภาวะผิวแห้ง เป็นผื่นคันที่พบได้บ่อยในประเทศไทยแล้ว หากมีโอกาสได้ไปต่างประเทศที่มีอากาศหนาวมากๆ ต้องระมัดระวังภาวะที่ เกิดอุณหภูมิของร่างกายต่ำมาก เนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแดวล้อมได้ ( Systemic hypothermia) ซึ่งอาจเกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซึมและหมดสติได้ หรือเกิดอาการผิดปกติเฉพาะผิวหนังบางส่วน จากการที่หลอดเลือดหดตัว (Chilblaine or pernio) หรือเนื้อเยื่อแข็งตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งจากอากาศเย็น ( Frostnip or frostbite) ซึ่งมักพบปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ปลายจมูก ติ่งหู เป็นต้น ผิวหนังจะมีอาการซีด ชา หลังจากนั้นจะบวมแดง ปวดแสบปวดร้อน เกิดตุ่มพอง หรือผิวหนังบริเวณนั้นตายได้ ซึ่งการป้องกันจะต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม และ หลีกเลี่ยงอากาศที่หนาวจัดมากๆ หากเริ่มมีอาการดังกล่าว ต้องย้ายไปอยู่ในที่อบอุ่น และนำส่งร.พ.
ขอบคุณบทความดีๆ จากแพทย์หญิง ภัทรา พิมลศานติ์
แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ความงามเฉพาะทาง