เคยมั้ยที่นั่งลงกางหนังสือ แล้วจ้องอยู่ที่ประโยคเดิมๆ จนกระทั่งงีบหลับไป คือรู้ตัวว่าต้องอ่านแต่ใจมันไม่อยากใช่ไหม หวังว่าเคล็ดลับต่อไปนี้จะช่วยให้คุณตื่นตัวอยากอ่านหนังสือขึ้นมาบ้าง
ส่วนที่ 1 เตรียมพื้นที่ในการอ่านหนังสือ
1. หาพื้นที่เงียบๆ สิ่งล่อตาล่อใจน้อย อาจเป็นห้องสมุด ร้านอาหาร ห้องนึงในบ้าน หรือที่ไหนก็ได้ที่ไม่มีเสียงรบกวน ไม่มีการขัดจังหวะ ให้หลีกเลี่ยงที่ที่มีโอกาสจะได้เจอเพื่อนๆ ด้วย
2. ตุนของที่ต้องใช้ในการอ่านหนังสือ เตรียมปากกา ดินสอ กระดาษ ปากกาไฮไลท์ และกระดาษโพสต์อิทที่จำเป็นต้องใช้ให้พร้อม คุณคงไม่อยากให้การอ่านสะดุดไปเพราะต้องลุกไปหยิบหรอกนะ
3. มีที่เก็บน้ำกับขนมขบเคี้ยวเล็กๆไว้ใกล้ตัว คนเราจะหัวแล่นได้มากกว่าหากได้รับน้ำ และการได้จิบน้ำเป็นระยะจะช่วยขจัดความกระหายได้ด้วย ของขบเคี้ยวเล็กๆ น้อยๆ อย่างถั่วพีนัท กราโนล่าบาร์ หรือผลไม้จะช่วยให้คุณมีแรง หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ดและพวกขนมอบ รวมถึงพิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ นาโช่ โดนัท มัฟฟิ่น ขนมปังซินนาม่อนโรลล์ และครัวซองค์ด้วย อาหารพวกนี้จะทำให้พลังงานพุ่งขึ้นมาในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วจะกลายเป็นความง่วงในเวลาไม่นาน
ส่วนที่ 2 เอาของที่ทำให้เสียสมาธิออกไปห่างๆ
1. สวมเสื้อผ้าสบายๆ เรื่องจุกจิกอย่างเช่น การที่ต้องคอยดึงกางเกงขึ้นมา ทำให้คุณเสียสมาธิได้ ให้สวมเสื้อผ้าที่ใส่บ่อย หลวมๆ ไม่รัดตัว หากคุณผมยาว ให้มัดขึ้น จะได้ไม่ทิ่มตา
2. ปิดเสียงมือถือ คุณจะไม่อยากอยากรับโทรศัพท์จากเพื่อนหรือครอบครัวตอนกำลังอ่านหนังสืออยู่แน่ๆ หากคิดว่าพวกเค้าจะเป็นห่วง ก็ให้บอกพวกเค้าล่วงหน้าว่าคุณขอเวลาอ่านหนังสือ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ให้ปิดเสียงมือถือและเก็บมันไว้ในที่ที่มองไม่เห็นจะได้ไม่ต้องเกิดกิเลสให้ต้องคอยแว่บมอง
3. หากทำได้ ให้ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย นอกเสียจากว่าจำเป็นต้องใช้คอมประกอบการอ่านหนังสือแล้ว ปิดคอมไปเลย และในทำนองเดียวกัน อย่าใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ คอมพิวเตอร์นี่เป็นแหล่งที่ทำให้เสียสมาธิตัวดีเลยทีเดียว อย่าคิดตื้นๆ ด้วยการบอกตัวเองว่า “แค่อยากจะเช็คอีเมล” หรือ “ขอแค่ดูข่าวซุบซิบคนดังนิดเดียวน่า” เพราะกว่าจะรู้ตัวอีกที คุณก็เสียเวลาไปทั้งชั่วโมงแล้ว
ส่วนที่ 3 ตั้งเป้าหมายในช่วงเวลาเรียน
1. ตั้งเป้าหมายในช่วงเวลาเรียนที่สามารถทำให้สำเร็จได้จริง ให้คิดถึงเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและสามารถทำได้จริง ไม่ใช่เป้าหมายพื้นๆ ที่ไม่ชัดเจน แทนที่จะบอกตัวเองว่า “ฉันต้องเก่งเลข” ก็ให้เปลี่ยนเป็นเป้าหมายที่เจาะจงกว่านั้นเช่น “ฉันจะเรียนรู้ให้ได้ว่าจะเขียนกราฟสมการกำลังสองยังไง” การทำสำเร็จตามเป้าหมายแบบนี้จะช่วยให้คุณรู้สึกถึงผลสัมฤทธิ์เมื่อหมดช่วงเวลาเรียน
2. ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำสำเร็จตามเป้าหมาย คิดให้รางวัลตัวเองเล็กๆ น้อยๆ เมื่อทำได้ตามเป้าหมาย หากอยู่ในระหว่างช่วงเวลาเรียน คุณสามารถออกไปเดินชั่วครู่สั้นๆ กินกราโนล่าบาร์ หรือฟังเพลงโปรด หากหมดช่วงเวลาเรียนแล้ว หาความสุขส่วนตัวได้ตามสบายเลย อย่างเล่นเกม คุยกับเพื่อน หรือดูวิดีโอ
3. นึกถึงสิ่งที่คุณจะได้จากการเรียน
จะคิดบวกอยู่เสมอได้ ก็ต้องนึกภาพถึงสิ่งดีๆ ที่คุณจะได้รับจากการเรียน จินตนาการว่าสอบได้คะแนนดี ได้รับคำชมจากอาจารย์ หรือมหาวิทยาลัยดีๆ ที่คุณหวังจะเข้าเรียน ถึงการเรียนจะเป็นอะไรที่น่าเบื่อแถมยังยาก แต่การคิดถึงผลลัพธ์ดีๆ ที่จะตามมาจะช่วยให้คุณเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนที่ 4 เตรียมตัว
1. ทำตารางเรียน
สงวนช่วงเวลาเฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวันเพื่ออ่านหนังสือ ซึ่งจำเป็นต้องทำมากกว่าการพร่ำบอกตัวเองอย่างเลื่อนลอยว่า “อาทิตย์นี้ฉันต้องหาเวลาอ่านหนังสือบ้างแล้ว” วางแผนชัดเจนไปเลยจะช่วยให้ทำตามที่ตั้งใจไว้ได้ง่ายกว่า
2. อย่าผัดวันประกันพรุ่ง อย่ารอจนถึงนาทีสุดท้ายถึงจะอ่านหนังสือเตรียมสอบใหญ่หรืออ่านบทเรียนยาว 90 หน้า หากได้มอบหมายงานมาวันจันทร์ กำหนดส่งวันศุกร์ ก็ให้เริ่มทำวันจันทร์และทำให้เสร็จแต่เนิ่นๆ เลย จะได้ไม่ต้องมากังวลตอนจวนตัว
ส่วนที่ 5 เริ่มลงมือ
1. แค่เริ่มลงมือเท่านั้นเอง! บางครั้งการเริ่มนี่แหละคือส่วนที่ยากที่สุด หากตารางอ่านหนังสือของคุณดูน่าหวาดหวั่นเกินไป ตั้งเป้าเล็กๆ แทนดีกว่า ลองอ่านวันนี้ครึ่งบท อีกครึ่งอ่านวันพรุ่งนี้ แก้โจทย์สัก 1 หรือ 2 ข้อในแบบฝึกหัด จำไว้ว่าลงมือทำนิดๆ หน่อยๆ ในตอนนี้ดีกว่าจบลงที่ไม่ได้ทำอะไรเลย
ข้อมูลจาก www.wikihow.com/Get-Motivated-to-Study