สวัสดีครับ กลับมาพบกับผม TAXBugnoms กันอีกครั้ง กับหัวข้อวันนี้ที่ไม่ใช่เรื่องของภาษี แต่เป็นเรื่องที่อยากจะเขียนมานานแล้วเหมือนกัน นั่นคือเรื่อง ปัญหาชีวิตจากการจัดการเรื่องเงิน วันนี้ได้โอกาสเลยขอจัดกันยาวๆอีกครั้งครับ ผมเคยเขียนบทความเรื่อง เก็บเงินเกษียณไปเท่าไรก็ไม่สำคัญ ถ้าวันนี้คุณยังรักษามันไม่เป็น พร้อมกับเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของคุณลุงทั้งสองท่านกับ ปัญหาการเก็บเงินเกษียณที่คิดว่าพอ แต่แล้วกลับไม่พอจนเกิดเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิต
วันนี้ผมมีอีกเรื่องหนึ่งที่จะมาเล่าให้ฟังครับ มันเป็นเรื่องอีกด้านหนึ่งของนายเก่า (นามสมมุติ) ผู้ชายในวัยทำงานคนหนึ่งที่อยู่ๆชีวิตต้องมีภาระหนักอึ้งขึ้นมาแบบที่เรียกว่าไม่คาดคิด เรื่องราวมันมีอยู่ว่า… เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พ่อของนายเก่าได้เกษียณจากการทำงานและกลับมาอยู่บ้าน โดยได้รับเงินเกษียณมาก้อนหนึ่งจำนวนประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งคิดว่าน่าจะพอใช้จ่ายในระดับหนึ่งจนถึงสิ้นอายุขัยครับ ซึ่งดูเหมือนว่าเหตุการณ์ทั้งหมดก็ไม่มีอะไร น่าจะเป็นครอบครัวที่ดีมีความสุขตามอัตภาพกันไป
นายเก่าเองก็เป็นคนที่พอจะมีความรู้ทางการเงินเบื้องต้นอยู่บ้าง เลยตัดสินใจว่าจะเอาเงินไปลงทุนเล็กๆน้อยๆให้มีผลตอบแทนสัก 3-4% และให้พ่อทยอยเบิกเงินก้อนนี้ออกมาใช้เดือนละ 10,000 – 15,000 บาท รวมถึงวางแผนสมทบเงินของตัวเองให้พ่อใช้อีกประมาณ 5,000 บาท (นายเก่าเงินเดือนประมาณ 25,000 บาท) แต่แล้วเหตุการณ์ก็เข้ามาแทรกแซงชีวิต นั่นคือ เจ้าใหม่น้องชายของนายเก่าที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีมาหมาดๆ เกิดอยากได้รถคันแรกเป็นของขวัญให้ตัวเองเพื่อที่จะขับไปทำงานในเมือง เจ้าใหม่เห็นว่าเงินก้อนของพ่อนั้นน่าจะช่วยเปลี่ยนให้มันเป็นรถคันแรกในชีวิตของเขาได้ จึงไปรบเร้าขอเงินของพ่อมาซื้อรถกันแบบง่ายๆซะเลย
ทางฝั่งพ่อเองก็รักลูกชายคนนี้มากมาย ตัดสินใจควักกระเป๋าให้ทันที 1 ล้านเพื่อให้ลูกชายได้มีรถใหม่สมดังใจ แถมยังซื้อเป็นเงินสดอีกซะด้วย แหม่.. คนมันรวยซะอย่าง นายเก่ามารู้ความจริงในวันที่มีรถใหม่ป้ายแดงมาจอดหน้าบ้าน พร้อมกับคำอุทานว่า โอ้วพระเจ้าช่วยกล้วยยังไม่ได้ทอดไปสามครั้งติดๆ นายเก่าเริ่มปวดหัวและคิดหนักว่า ชีวิตหลังเกษียณของพ่อจะต้องลำบากขึ้นหรือเปล่า และเขาจะช่วยเหลือพ่อได้อย่างไรในฐานะที่เป็นพี่ใหญ่ของบ้าน
พ่อเห็นอาการของเก่าเลยกระซิบบอกเบาๆ ว่า “ไม่เป็นไรลูก พ่อจะพยายามรักษาเงินให้อยู่ได้ ลูกไม่ต้องเป็นห่วง สบายๆ” ส่วนเก่าเองก็ได้แต่กังวลใจอยู่ลึกๆ และหันกลับไปจัดการชีวิตของตัวเองก่อน เพราะอีก 2 เดือนข้างหน้างานแต่งงานกับแฟนสาวที่คบหาดูใจกันมาสักพักก็จะจัดขึ้นแล้ว เวลาผ่านไปอีก 3 เดือนไวเหมือนโกหก เหตุการณ์เหมือนฝันร้ายกลับมาอีกครั้ง เจ้าใหม่ถูกไล่ออกจากงาน แถมยังเพิ่มเติมดราม่าชีวิตด้วยการติดพนันจนเป็นหนี้สินเกือบล้านบาท เก่ารู้เรื่องก็ยิ่งเศร้าจนใจหาย เพราะเงินเก็บของเขาเพิ่งถูกใช้ไปในงานแต่งงานจนหมดสิ้น ด้วยความต้องการมีหน้าตาของฝ่ายเจ้าสาว สุดท้ายกลายเป็นว่าเงินเกษียณของพ่อนั้นต้องถูกนำมาใช้จัดการภาระหนี้ของเจ้าใหม่ น้องชายที่นายเก่าอยากจะกระโดดดรอปคิกใส่สัก 35 ครั้ง!
จาก 2 ล้านกลายเป็น 0 บาทภายใน 1 ปี !! ปัญหาต่อมายังไม่จบ เพราะเรื่องทั้งหมดทำให้เก่าทะเลาะกับใหม่อย่างรุนแรง จนใหม่ประกาศกร้าวว่าจะไม่กลับมาที่บ้านนี้อีก ส่วนพ่อเองก็ได้แต่ตรอมใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด และเก่าเองก็ได้รับข่าวว่าภรรยากำลังตัวเองตั้งท้อง นั่นแปลว่า เงินกำลังจะต้องหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เรื่องราวท้งหมดนี้คือชีวิตจริงของคนๆหนึ่ง และผมอยากฝากคำถามไว้ว่า “ปัญหาการเงิน” ที่เกิดโดยคนอื่นแบบนี้ เราจะจัดการที่ไหนและอย่างไร มันดูวุ่นวาย ยุ่งเหยิงและอีรุงตุงนังกันไปหมด บางคนอาจจะมองว่า จุดเริ่มต้นเกิดจาก การที่น้องชายไม่รู้ความสำคัญของเงินเกษียณ ส่วนบางคนอาจจะมองว่าพ่อผิดเองที่ใจดีเกินไป หรือมองว่าเก่านั่นแหละที่เป็นคนไม่ยอมจัดการเรื่องนี้ให้รอบคอบ ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนที่พิจารณาครับ
ผมตั้งใจเล่าเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ให้ฟัง เพียงเพราะต้องการให้ทุกคนลองคิดว่า ปัญหาการเงินที่ว่านั้น มันอาจจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเรา แต่มันอาจจะมาจากคนอื่นๆรอบตัวก็ได้ ในระหว่างที่เราวางแผนจัดการชีวิตตัวเองให้ดี ก้าวหน้า มีฐานะการเงินที่ดี เราเองได้เตรียมพร้อมที่จะเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นไว้บ้างหรือเปล่า หรือว่าเรามองว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับตัวเราแน่ๆ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องแก้หรอกเธอ…
โดยส่วนตัวผมนั้น ผมเลือกใช้ Checklist สั้นๆ 3 ข้อในการจัดการปัญหาของตัวเองครับ วันนี้เลยถือโอกาสมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังอีกสักที เผื่อว่ามันจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆกันบ้างครับ
1. เงินเก็บฉุกเฉินเบื้องต้น มีแล้วหรือยัง? เรื่องนี้ผมเน้นย้ำตลอดนะครับ เรามีเงินเก็บที่สำรองไว้สำหรับความปลอดภัยแล้วหรือยัง ถ้าหากยัง เราจะทำอย่างไรต่อไปดีในวันที่เกิดเรื่องราวแบบนี้กับเรา
2. เราได้เตรียมรับเรื่องร้ายแรงที่อาจจะเกิดขึ้นไว้หรือไม่ บางทีเรามองชีวิตกันในแง่บวกจนเกินไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดนะครับ เพียงแต่ต้องหันมาคิดเผื่อด้วยว่า ถ้าหากเกิตเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาจริงๆ เราเตรียมอะไรไว้บ้างหรือไม่ วันนึงพ่อแม่ของเราก็ต้องแก่ ท่านมีแผนเกษียณแล้วหรือยัง? หรือวันนึงเราจะต้องมีลูก เราได้เตรียมอะไรไว้ล่วงหน้าบ้างหรือเปล่า หรือถ้าแผนเกษียณของเราเองไม่ไปถึงฝั่ง เราจะทำอย่างไรดี ?
3. นอกจากเรื่องเงินแล้ว เรามีความสุขกับชีวิตไหม? คำถามสุดท้ายอาจจะดูรูปธรรมไปสักหน่อยนะครับ แต่ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ ตรงนี้มันอาจจะสะท้อนว่าเรากำลังแบกมันในโดยที่ไม่รู้ตัวเหมือนกันครับ บางคนพยายามหาเรื่องเงินมาชดเชยความสุขที่เกิดขึ้นจากใจ บางคนพยายามทำงานหนักเพื่อให้มีเงินเยอะๆ แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราควรมีความสุขในทุกมิติของชีวิตนะครับ
สุดท้ายนี้ ผมขอแนะนำให้ลองเช็คตัวเองให้ดีก่อนนะครับว่า ชีวิตเรานั้น มีการวางแผนการเงินที่พร้อมและเพียงพอหรือยัง นอกจากนั้นมันทำให้เรามีความสุขในชีวิตด้วยหรือเปล่า และผมหวังว่าทุกคนจะได้รับคำตอบที่ดีให้กับตัวเองนะครับ
ที่มา : aommoney