โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนนานาชาติ ชาติส่วนใหญ่จะเป็นเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมีนักเรียนไทยแค่ 6 คน
นักเรียนแต่ละคนงอแงไม่ค่อยอยากจะเข้าห้องเรียนกันนัก หนุ่มสาวผิวบาง หน้าใส ใจสะออน ไม่เคยทำงานกลางแจ้ง ตากแดดตากลมแบบนี้กันมาเลยในชีวิตของพวกเขา
นักเรียนแต่ละคนอยู่ในช่วงอายุ 18 ปี ไม่เกิน 31 ปี (มีแต่นักเรียนไทยที่เกินเกณฑ์ไปนิดเดียว) นักเรียนส่วนใหญ่จะมีวีซ่าที่เรียกกว่า Working Holiday (subclass 417) ที่ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในออสเตรเลีย 1 ปีเต็ม แต่ถ้าอยากจะได้โบนัสอยู่ต่ออีก 1 ปี ก็เชิญลงทะเบียนทางนี้เลย รัฐบาลออสซี่หยิบยื่นข้อเสนอที่หวานหอมยิ่งกว่าสตรอว์เบอร์รี่ให้กับพวกเขา ข้อเสนอที่แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านเกษตรกรรมในประเทศ ข้อเสนอนี้มีอยู่ว่าถ้าพวกเขามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับฟาร์ม ปศุสัตว์ ประมง เหมืองแร่ที่อยู่ในเขตห่างไกลเป็นเวลา 88 วัน ก็จะได้รับโอกาสที่ 2 (2nd year visa) ในการอยู่ต่อที่ประเทศออสเตรเลียอีกถึง 1 ปีเต็ม (เงื่อนไขที่ Working Holiday ชาวไทยไม่ได้รับสิทธิ์นั้น)
โอปป้าคนหนึ่งเปรียบช่วงเวลา 88 วันนี้ว่ามันช่างทรมานหัวใจยิ่งกว่า 2 ปีตอนเกณฑ์ทหารเสียอีก ทุกเช้าแต่ละคนจะมาพร้อมเพรียงกันตอน 6 โมงเช้า (แน่นอนว่าน้อยคนที่จะเคยตื่นมาทำงานเช้าขนาดนี้) ในช่วงที่สตรอว์เบอร์รี่เบ่งบานแย่งกันออกผลมาให้เก็บ ช่วงนั้นเราหมดวันที่ 5-6 โมงเย็น ส่วนในช่วงท้ายฤดูกาล ก็เลิกเร็วจนน่าใจหาย เช่น 8 โมงเช้า นั่นหมายความว่า เกือบทั้งฤดูกาลนักเรียนแต่ละคนต้องใช้เวลานับ 10 ชั่วโมง นั่งอยู่ในรถเข็น ไถตัวเองไปเรื่อยๆ เพื่อเก็บสตอร์เบอร์รี่ เลยไม่แปลกที่เวลาเดินสวนกัน เจอหน้ากันคำพูดที่ทักทายกันก็จะมีแต่คำบ่นประมาณว่า “ไอเหนื่อย”,“ไอร้อน”, “ไออยากกลับบ้าน” รุนแรงไปถึง “ฟักกิ่งสตรอว์เบอร์รี่!!”
ในฐานะนักเรียนโข่งที่แฝงตัวเข้ามา เราไม่ขี้เกียจไปโรงเรียน เพราะมันเป็นการตัดสินใจของเราโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ จูงใจ ความสนุกอยู่ตรงที่ ทุกวันเราจะได้คุยกับเพื่อนใหม่ เพราะนักเก็บสตรอว์ฯ ที่อยู่ข้างหน้า ข้างข้าง หรือข้างหลังของเราจะเปลี่ยนไปทุกวัน บทสนทนาทำความรู้จักกันมีขึ้นทุกวัน สีหน้าตกใจ เมื่อรู้อายุของเราก็มีให้เห็นจนชิน ความเกรงใจเมื่อรู้ตัวว่าตัวเองเก็บช้า ก็จะเปิดทางให้รถเข็นของอีกฝ่ายล่วงหน้าไปก่อนก็มีให้เห็นบ่อยๆ ความช่วยเหลือถึงแม้จะไม่ได้รู้จักกันก็หาได้ง่ายมาก ช่วยยกรถเข็นบ้าง แบ่งสตรอว์เบอร์รี่ให้กันบ้าง พูดคุยให้กำลังใจกันบ้าง
โรงเรียนนี้สอนให้หนุ่มสาวในยุคออนไลน์ เรียนรู้ที่จะตั้งใจทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และเรียนรู้ที่จะอยู่เงียบๆ กับความคิดของตัวเอง จากคนยุคใหม่ที่ต้องจับโทรศัพท์กันไม่เว้นแต่ละนาที เวลาลงสนามเก็บสตรอว์เบอร์รี่ ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาควานหาสตรอว์ฯ ไม่มีโอกาสได้เล่นโทรศัพท์ เพราะถ้าขืนช้ารถเข็นคันหลังก็จะชนท้ายเอา คุณครูซูเปอร์ไวเซอร์ก็จะดุ หมายรวมไปถึงยอดรายได้ก็จะลดลงตามสปีด พวกเขาจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าโดยไม่มีเทคโนโลยีมาขัดขวาง ได้อยู่กับงานที่ทำและความคิดที่ฟุ้งกระจายอยู่เต็มลานสตรอว์เบอร์รี่
นอกจากท้องฟ้า สายลม แสงแดด (บางวันก็ฝนพรำ) ดอกสตรอว์เบอร์รี่สีขาว และผลไม้สีแดงสดแล้ว สุนทรียะอีกอย่างก็คือ “บทเพลง” เชื่อเถอะว่า แต่ละวันเราจะมีดีเจไม่ซ้ำหน้าคอยเปิดเพลงนานาชาติเผื่อแผ่ให้เพื่อนๆ ฟัง มีทั้งเพลงจีน เกาหลี ฝรั่ง จะเร็ว ช้า ฮิปฮอปก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้เปิด ฟ้าใส ลมเย็น พร้อมบทเพลงขับกล่อมกลางสวนสตรอว์เบอร์รี่ขณะทำงาน เป็นความรื่นรมย์ที่หนุ่มสาวมักจะมองข้าม และเฝ้าคอยเวลาให้หมดวัน นับวันถอยหลังเพื่อจะได้ออกไปจากที่นี่
สำหรับนักเรียนบางคน 88 วันนี้ช่างยาวนาน หนักหนาเกินจะรับได้ ทำให้ล้มเลิกความตั้งใจเรื่องโอกาสที่ 2 กลางทาง วิ่งเข้าหาเมืองใหญ่เพื่อได้ทำงานที่เบาขึ้นและใช้ชีวิตฟรีสไตล์ แต่สำหรับบางคนถึงจะผ่านช่วงเวลาไปอย่างขมขื่น พาลให้หลุดปากออกมาว่าไม่อยากจะกินสตรอว์เบอร์รี่อีกต่อไป แต่เขาก็อดทนพอที่จะอยู่เก็บเกี่ยวผลผลิตแห่งความอุตสาหะ นั่นคือช่วงเวลาที่หวานหอมที่จะได้ท่องไปในซีกโลกใต้อีกถึง 1 ปีเต็มๆ แถมด้วย บทเรียนแห่งความรับผิดชอบ ความเหนื่อย ความหนัก ความพยายาม และเพื่อนใหม่ที่ได้มา น่าจะทำให้เขาเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้นกว่าเมื่อ 88 วันที่แล้ว
ณ วันนี้ โรงเรียนนักเก็บสตรอว์เบอร์รี่ กำลังจะปิดตัวลงตามฤดูกาลแล้ว นักเรียนทั้งหลายอาจจะสะอิดสะเอียนเมื่อเห็นสตรอว์เบอร์รี่ และไม่อยากแม้แต่จะเอ่ยถึงคำๆ นี้ แต่ไม่แน่ว่าเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาได้เติบโตขึ้นและมองย้อนกลับมาก็อาจจะพบว่าไม่มีสตรอว์เบอร์รี่ที่ไหน อร่อยเท่าสตรอว์เบอร์รี่ควีนส์แลนด์ที่ครั้งหนึ่งเคยเก็บกินมากับมือ.
Writer: Mae Mae