ผลวิจัยชี้พริกขี้หนูเป็นปัจจัยต่อการเพิ่มการละลายลิ่มเลือดที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ โดยพบว่าช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคส เพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย ชะลอการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด เพิ่มการละลายลายลิ่มเลือด โดยสาระสำคัญในพริกขี้หนูสดจะออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที หลังการรับประทานพริกขี้หนูสด
ศ.นพ.สุรัตน์ โคมินทร์ หัวหน้าฝ่ายโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า น.ส.พัชราณี ไชยทา นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาโภชนศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรร่วมระหว่างคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง ผลของพริกขี้หนูต่อปัจจัยของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยตนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ เพื่อศึกษาผลของการบริโภคพริกขี้หนูสดต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในหญิงไทยที่มีไขมันในเลือดสูง
โดยในการศึกษาครั้งนี้ได้ทดลองในหญิงไทย 50 คน ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง อายุ 45-64 ปี และหมดประจำเดือนแล้ว ไม่มีอาการแสดงของโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคกระเพาะอาหาร ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 2 แก้ว ไม่รับประทานพริกมากกว่า 10 กรัมต่อวัน
ผลการศึกษาพบว่า การบริโภคพริกขี้หนูช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ช่วยลดระดับน้ำตาลกลูโคส เพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย ชะลอการจับกลุ่มของเกล็ดเลือด เพิ่มการละลายลายลิ่มเลือด โดยสาระสำคัญในพริกขี้หนูสดจะออกฤทธิ์ภายใน 30 นาที หลังการรับประทานพริกขี้หนูสด
ทั้งนี้ ส่วนประกอบสำคัญในพริกขี้หนูสดที่ทำให้เกิดความเผ็ด เพิ่มรสชาติของอาหารคือ สารแคปไซซิน ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาคือ ช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ เพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร สำหรับ น.ส.พัชราณี จะเข้ารับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาโภชนศาสตร์ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้