2024-11-24

คนไทยบ้ากินยาติดอันดับต้นๆของโลก




 


ปี 2549 คนไทยทั้งประเทศ หมดเงินไปกับค่ายามูลค่า 76,000 ล้านบาท เทียบได้สัดส่วน ร้อยละ 30-40 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งประเทศ สัดส่วนค่ายามหาศาลขนาดนี้ ถือว่า สูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่หมดเปลืองกับค่ายา ไม่เกินร้อยละ 10-15 ของค่ารักษาพยาบาลทั้งประเทศ ในสายตาชาวโลก คนไทยจึงเป็น "โรคบ้ากินยา"ติดอันดับต้นๆ

ศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโครงการนำร่องเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล หรือ Antibiotics Smart Use บอกว่า ยาเกือบทุกชนิดในโลกนี้ รวมทั้ง "ยาปฏิชีวนะ" (ยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือที่เรียกว่า Antibiotics Drug) ส่วนใหญ่เป็นยาอันตราย ซึ่งคนทั่วไปมักขาดความรู้ในการใช้

อาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเสีย ชัก ตับถูกทำลาย ไตวาย หูหนวก ผิวหนังลอก จึงเป็นผลข้างเคียงที่พบเห็นได้บ่อย จากการใช้ยาปฏิชีวนะ และยาอันตราย อย่างพร่ำเพรื่อ

แต่ในเมืองไทย ทั้ง ยาฆ่าเชื้อ และ ยาปฏิชีวนะ กลับมีมูลค่าการใช้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องมาหลายปี เฉลี่ยปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท หรือราว 1 ใน 4 ของค่ายาที่คนไทยซื้อกินทั้งประเทศ

องค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า กว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาฆ่าเชื้อ และยาปฏิชีวนะ ในไทย เป็นการใช้ยาโดยไม่จำเป็น นอกจากสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ เสี่ยงอันตราย ยังก่อให้เกิดปัญหา "เชื้อดื้อยาขั้นรุนแรง"

 

นพ.พิสนธิ์ บอกว่า สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดดื้อยาเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ หรือใช้ไม่ตรงกับสาเหตุของการ เกิดโรค ยกตัวอย่าง ในโรคหวัดทั่วไป ซึ่งมีอาการ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ซึ่งถือเป็นอาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน หรือที่ศัพท์แพทย์ เรียกย่อๆ ว่า "โรคยูอาร์ไอ" สาเหตุการเกิดโรคนี้เพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่เกิดจากการติด เชื้อแบคทีเรีย เหมาะที่จะนำยาปฏิชีวนะ มาใช้รักษา

แต่อีกร้อยละ 85 ล้วนมีสาเหตุจากการติด เชื้อไวรัส ซึ่งเป็นโรคที่หายได้เอง โดยไม่ต้องกินยา

ขณะที่มีการติดเชื้อไวรัส ร่างกายจะเริ่มสร้างระบบภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัส เพื่อไม่ให้เชื้อฯ เพิ่มปริมาณ และป้องกันไม่ให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ระหว่างนั้นร่างกายจะสร้าง สารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี้) และจดจำลักษณะสำคัญของไวรัสชนิดนั้นไว้ในเซลล์เม็ดเลือดขาว ถ้าในอนาคตร่างกายได้รับเชื้อไวรัสชนิดนั้นเข้าไปอีก และจะสร้างสารภูมิต้านทานที่เจาะจงต่อเชื้อไวรัสชนิดนั้น จากความทรงจำที่เก็บไว้ในเม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายปลอดภัยจากการเป็นโรค

นพ.พิสนธิ์ บอกว่า ฉะนั้น ตามกลไกดังกล่าว แค่ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงความเย็น และพักผ่อนให้เพียงพอ อาการน้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอ ของโรคยูอาร์ไอ ก็จะหายได้เอง โดยไม่ต้องใช้ยา ส่วนอาการ "ไข้" เป็นปฏิกิริยาอย่างหนึ่ง ที่เกิดจากขบวนการภูมิต้านทานโรคของร่างกาย ในขณะที่ร่างกายทำการต่อสู้กับเชื้อไวรัส การมีไข้จึงเป็นขบวนการป้องกันตนเองของร่างกาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส โดยการทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น

คุณหมอพิสนธิ์ บอกว่า ดังนั้น หากมีไข้ร่วมกับอาการน้ำมูกไหล ไอ และเจ็บคอ ก็แค่หายาลดไข้ (พาราเซตามอน) มากิน เท่านั้นพอ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา พบว่า มักมีการนำยาปฏิชีวนะ จำพวก อะม็อกซี แอมพิซิลลิน ออกเมนติน ซิโทรแม็กซ์ คลาซิด คราวิท ซีแด็กซ์ แบ็คทริม ฯลฯ มาใช้ทำการรักษาโรคยูอาร์ไอกันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ยาเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้โรคยูอาร์ไอหายเร็วขึ้น และไม่ได้ช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ เช่น โรคหูน้ำหนวก และปอดบวม

แต่การใช้ยาปฏิชีวนะในโรคยูอาร์ไอ ยังอาจทำให้เกิดโทษอย่างมหันต์ เช่น ทำให้ เชื้อโรคดื้อยา หรืออาจเกิดโรคแทรกซ้อน ถึงขั้นเสียชีวิตได้้

 

"เมื่อป่วยเป็นโรคยูอาร์ไอ โอกาสที่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ มีน้อยกว่า 2 ใน 10 ครั้ง แถมใน 2 ครั้งนั้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์อย่างละเอียด ถึงจะระบุได้ว่า ควรใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใด แต่บ้านเรากลับใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ"

คุณหมอฯ บอกว่า นอกจากนี้ คนทั่วไปยังมักเรียก "ยาปฏิชีวนะ" ตามความเข้าใจที่ผิดคิดว่าเป็น "ยาแก้อักเสบ" ทั้งที่ไม่ใช่ ทำให้เกิดความสับสนอย่างยิ่งและเป็นอันตราย

"คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า ถ้าเจ็บคอ คอแดง ต้องกินยาแก้อักเสบ ทั้งที่อาการดังกล่าวสามารถหายได้เอง โดยการพักผ่อน และดื่มน้ำมากๆ ยกเว้นว่า อักเสบจนมีตุ่มหนองขึ้นในคอ จึงค่อยใช้ยากลุ่มแก้อักเสบ"

คุณหมอฯ อธิบาย "การอักเสบ" เป็นผลจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแปลกปลอม หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อร่างกาย เช่น กรณี คออักเสบ เจ็บคอมาก ส่องไฟฉายจะเห็นคอแดงจัด ต่อมทอนซิลแดง และบวม ลักษณะเช่นนี้ ถือว่ามีอาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เป็นผลมาจากร่างกายมีปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่ง

แต่การติดเชื้อที่คอ ส่วนใหญ่ร้อยละ 85 เกิดจากเชื้อไวรัส

ดังนั้น ถ้ากิน "ยาปฏิชีวนะ" เข้าไป โดยเข้าใจว่าเป็นยาแก้อักเสบ ทั้งที่ในความเป็นจริง ยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการรักษาการอักเสบที่เกิดขึ้น ยังมีส่วนทำให้เชื้อโรคดื้อยา เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา และอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ นพ.พิสนธิ์ แนะนำว่า ทางที่ดีประชาชนทั่วไป ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง

สำหรับแพทย์ ก่อนสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะให้ผู้ป่วย ควรตรวจวินิจฉัยคนไข้อย่างละเอียด ถ้าพบว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรีย จึงค่อยจ่ายยาปฏิชีวนะให้คนไข้ และไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ เสมือนหนึ่งเป็นยาลดไข้ แก่คนไข้

นอกจากนี้ ทั้งครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เภสัชกร พยาบาล และแพทย์ ควรจะสร้างความเข้าใจใหม่ให้กับสังคมไทย โดยการเลิกเรียกยาปฏิชีวนะว่า "ยาแก้อักเสบ" เสียที เพื่อขจัดความเข้าใจที่สับสน และเป็นอันตรายต่อการนำมาใช้ "ผมอยากให้จำไว้สั้นๆ ว่า ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ โรคหวัดคออักเสบส่วนใหญ่ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยาปฏิชีวนะอันตราย ห้ามเอามาใช้พร่ำเพรื่อ"

นพ.พิสนธิ์ บอกว่า อัตราการดื้อยาในเมืองไทย มักเพิ่มขึ้นตามปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยแบคทีเรียสามารถขยายการดื้อยา ด้วยการส่งผ่านชิ้นส่วนสารพันธุกรรมไปให้แบคทีเรียอื่น ที่อยู่ใกล้กัน

 

ดังนั้น ยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะมาก หรือเกินจำเป็น เชื้อก็ยิ่งดื้อยามาก ปัญหาการดื้อยาเป็นปัญหาของชุมชน ลามไปสู่ระดับชาติ และระดับโลก เพราะเชื้อดื้อยาสามารถแพร่กระจายไปยังคนอื่นๆ ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราเชื้อแบคทีเรียดื้อยา สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

การแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา โดยเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ ซึ่งมีราคาแพงมาก นอกจากไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ยังช่วยเร่งให้เชื้อดื้อยาขยายวงกว้าง และรุนแรงขึ้น จนในที่สุดหมดหนทางรักษา เพราะคิดค้นยาตัวใหม่ไม่ทันต่ออัตราการดื้อยา

นพ.พิสนธิ์ ทิ้งท้าย ถ้าปัญหานี้ ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และทันท่วงที วันหนึ่งคนไทยอาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยง ไม่มียาปฏิชีวนะ ที่มีประสิทธิภาพใช้ เมื่อถึงคราวจำเป็น


ข่าวสารและบทความดีๆจาก : ไทยรัฐ
NATUI Officially 2008-11-08 17:20:50 2605