สาธารณสุขเตือนคอทองแดง กินเหล้าไม่ได้แก้หนาว ตรงกันข้ามช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายเพิ่มขึ้น เผยแอลกอฮอล์กั้นระบบเผาผลาญ ยิ่งดื่มยิ่งอ้วน
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประชาชนตามชนบทนิยมดื่มเหล้า เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความอบอุ่นร่างกายได้ ซึ่งในทางการแพทย์ถือว่าเป็นความเชื่อที่ผิดและเป็นอันตรายอย่างมาก เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว ทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบเหมือนว่าร่างกายอบอุ่นขึ้น ในทางตรงกันข้ามการขยายตัวของหลอดเลือดฝอยนี้ จะเป็นช่องทางให้ความร้อนถูกระบายออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นหากดื่มเหล้ามากขึ้นเท่าใด ความร้อนก็จะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นด้วย ผลตามมาคืออุณหภูมิในร่างกายอาจจะลดลงต่ำกว่าปกติ และหากเผลอนอนหลับไป ทำให้ร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานาน จะทำให้เสียชีวิตได้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เสมอ จะมีไขมันในเลือดสูงขึ้นได้ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี และเสี่ยงต่อหัวใจวายได้ โดยคนที่ดื่มเหล้าหรือเบียร์ทุกวันจะมีพลังงานส่วนเกินจากเครื่องดื่มเหล่านี้สะสมในร่างกายวันละ 50 -200 กิโลแคลอรี จึงเหมือนกินไขมัน 1-4 ช้อนชา ทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอาจถึงเดือนละ 1 กิโลกรัม หรืออาจมีไขมันในเส้นเลือดสูง ถึงแม้ไม่ได้อ้วนก็ได้
ทั้งนี้ การดื่มเบียร์ 1 กระป๋อง ขนาด 120 ออนซ์ จะให้พลังงานประมาณ 115 แคลอรี เทียบเท่ากับกินข้าว 1 ทัพพีครึ่ง การกินอาหารทั่วไป เช่น ข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยว กับเนื้อสัตว์ต่างๆน้ำหนักทุก 1 กรัม ร่างกายจะได้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้ำหนักทุก 1 กรัมจะให้พลังงานมากถึง 7 กิโลแคลอรี่ ดังนั้นการดื่มที่มีแอลกอฮอล์จึงเป็นสาเหตุน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์เป็นตัวการขัดขวางการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ไม่ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์