2024-11-24

วางแผนเก็บเงินเที่ยวต่างประเทศ...




หลาย ๆ คนก็คงมีเป้าหมายว่าอยากไปเที่ยวต่างประเทศสักครั้งในชีวิต ยิ่งถ้าได้ไปกับเพื่อน ๆ ตั้งแต่ตอนยังเรียนอยู่ ก็น่าจะเป็นความทรงจำที่ดีสุด ๆ ไปเลย งั้นมาเริ่มลงมือทำความฝันให้เป็นจริงด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้

  • การวางแผนเก็บออมเงินเพื่อทริปในฝัน เริ่มจาก... กำหนดจุดหมายปลายทางที่ต้องการจะไปให้ชัดเจน จากนั้นคำนวณค่าใช้จ่ายในทริป ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าประกันภัยการเดินทาง ค่าชอปปิ้ง ค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ รวมไปถึงเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เมื่อได้จำนวนเงินที่ต้องการแล้ว ก็ต้องวางแผนและเก็บเงินตามแผนที่วางไว้

 

  • หากจำนวนเงินที่ต้องเก็บออมตามแผนมากเกินไป จนอาจไม่สามารถเก็บได้ ลองหาวิธีลดค่าใช้จ่าย ทั้งค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็น และค่าใช้จ่ายในทริปที่วางแผนไว้ว่าสามารถปรับลดตรงไหนได้บ้าง หรืออาจขยายระยะเวลาออมเงินให้นานขึ้น หรือหารายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

 

  • การเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่สามารถฝากหรือถอนเมื่อไหร่ก็ได้ อาจทำให้เราถอนเงินออกไปใช้ได้ง่ายๆ ลองเปลี่ยนเป็นการออมเงินในทางเลือกอื่น ๆ เช่น บัญชีเงินฝากประจำ หรือกองทุนรวมต่าง ๆ ก็น่าจะช่วยให้เราไม่ว่อกแว่กนำเงินออกมาใช้ก่อนเวลา แถมยังมีโอกาสได้กำไรจากการลงทุนไปเป็น Pocket Money อีกด้วย

1. กำหนดจุดหมายปลายทาง

ตั้งคำถามกับตัวเองหรือปรึกษาเพื่อนร่วมทริปว่า อยากไปเที่ยวที่ไหน เมื่อไหร่ กี่วัน เพื่อให้ได้จุดหมายปลายทางที่ถูกใจ และเหมาะสมกับงบประมาณที่แต่ละคนพอจะเก็บเงินได้ จะได้เป็นเป้าหมายที่ไม่เกินตัวมากไป

2. คำนวณค่าใช้จ่ายในทริป

ด้วยเครื่องมือช่วยวางแผนต่าง ๆ เช่น เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเปรียบเทียบราคาตั๋วเครื่องบินหรือที่พัก แถมยังมีตัวอย่างแผนท่องเที่ยวที่บอกค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดจาก Facebook Fan Page ต่าง ๆ ดังนั้น ถ้าศึกษาและวางแผนได้ดี ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะเลย โดยค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ที่ต้องเตรียมงบประมาณไว้มีดังนี้

  • ค่าเดินทาง (ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าตั๋วรถโดยสารสาธารณะ)
  • ค่าที่พัก
  • ค่าอาหารในแต่ละวัน
  • ค่าใช้จ่ายจิปาถะต่าง ๆ (ค่า Internet Sim Card ค่าตั๋วเข้าชมสถานที่สำคัญ ค่าของที่ระลึก ฯลฯ)
  • ค่าประกันภัยการเดินทาง
  • ค่าชอปปิง (มีหรือไม่มีก็ได้)
  • เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

 

3. วางแผนเก็บเงิน

หากใครที่มีเงินออมมาบ้างแล้ว ก็เอามาหักลบกับงบค่าทริปที่ตั้งไว้ แล้วคำนวณว่า เวลาที่มีอยู่ก่อนถึงวันไปเที่ยว เราจะต้องออมเงินเพิ่มอีกเดือนละเท่าไร (ตัวอย่างในตาราง) หากคำนวณแล้วเราสามารถออมเงินเพิ่มได้ตามนั้น ก็ลงมือออมตามแผนได้เลย แต่ถ้าจำนวนเงินมากเกินไปจนไม่น่าจะออมได้แน่ ๆ ก็มีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาดังนี้

•    ลดค่าใช้จ่าย เริ่มจากลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็น เพื่อให้มีเงินออมเพิ่มได้ จากนั้นลองทบทวนว่าในทริปที่วางแผนไว้ มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ปรับลดได้อีก เช่น อาจเลือกที่พักที่มีราคาสูงเกินไป หรือตั้งเงินค่าใช้จ่ายจิปาถะมากเกินไป
•    ขยายระยะเวลาออมเงินให้นานขึ้น เพื่อให้จำนวนเงินที่ต้องออมต่อเดือนลดน้อยลง แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วย เช่น ถ้าอยากไปเที่ยวช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตก ก็อาจจะขยายเวลาออมเงินไม่ได้ เพราะจะพลาดช่วงเวลาที่ต้องการไปเที่ยว
•    หารายได้เสริม เช่น การขายเสื้อผ้าหรือของใช้มือสองผ่านช่องทางออนไลน์ การรับจ้างทำงาน Part -Time การรับสอนพิเศษ การรับงานเป็นผู้ช่วยในงานอบรมสัมมนา หรือการรับงานฟรีแลนซ์ในสายงานที่เราเรียนมา ไม่เพียงแต่เราจะได้รายได้พิเศษเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถ ได้พบเจอผู้คนใหม่ ๆ และอาจต่อยอดสู่อาชีพในอนาคตได้ด้วย

แม้ว่าจะวางแผนออมเงินมาแล้วอย่างดี แต่พอถึงเวลาลงมือทำจริง ๆ ก็มักจะมีสิ่งล่อตาล่อใจให้ว่อกแว่กไปใช้เงินที่อุตส่าห์เก็บออมไว้ไประหว่างทาง ดังนั้น ขอแนะนำเทคนิคดี ๆ ด้วยการเปลี่ยนจากการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ที่จะฝากจะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ มาเป็นการออมเงินในทางเลือกอื่น ๆ ดังนี้

•    ออมในบัญชีเงินฝากประจำ ควรเลือกระยะเวลาให้สอดคล้องกับแผนการออมของเรา เช่น หากเราจะไปเที่ยวในอีก 10 เดือนข้างหน้า ก็ควรเลือกเป็นบัญชีเงินฝากประจำ 6 เดือนหรือต่ำกว่านั้น เพื่อให้เหลือระยะเวลาที่จะต้องนำเงินออกมาจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินและที่พัก
•    ลงทุนผ่านกองทุนรวม ควรศึกษานโยบายลงทุนและเงื่อนไขของกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ จากหนังสือชี้ชวน ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อตามความเสี่ยงที่เราสามารถรับได้ เพื่อสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินฝาก ซึ่งหากเราวางแผนท่องเที่ยวไว้ในช่วงระยะเวลาอีกไม่นาน ก็ไม่ควรเลือกซื้อกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงมากนัก เพราะเราต้องการออมเงินและรักษาเงินต้นไว้มากกว่าการคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนที่สูง ดังนั้น จึงควรเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น จากนั้นเมื่อเราลงทุนในกองทุนรวมได้ครบตามกำหนดที่เราวางแผนไว้ ก็ค่อยขายกองทุนนำเงินออกมาใช้ในทริปที่ตั้งใจไว้ ดีไม่ดีก็จะได้เงินกำไรเพิ่มจากการลงทุนมาเป็น Pocket Money ให้ไปเที่ยวอย่างสบายใจไร้กังวลขึ้นอีกด้วย
 

นอกจากการออมเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการแล้ว อย่าลืม!!! คำนึงถึงระยะเวลาของการใช้เงินด้วย เพราะค่าใช้จ่ายในการไปเที่ยวต่างประเทศไม่ได้จ่ายทีเดียวทั้งก้อน เช่น การจองตั๋วเครื่องบินราคาถูกอาจต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นเวลานาน หรือในบางประเทศอาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการขอวีซ่าเพิ่มเติมด้วย

การวางแผนออมเงินไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เราไม่รู้สึกเร่งรัดมากเกินไป และทริปในฝันก็จะเป็นจริงได้ไม่ยาก หากเราตั้งใจทำได้ตามแผน ก็จะได้ไปเที่ยวแบบสบายใจและมีความสุขสุด ๆ แน่นอน

 

ขอบคุณ เครดิต 

https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/knowledge/article/9-how-to-save-for-the-first-overseas-trip-as-a-university-student

Pimkamon Sasi-athiwat 2023-03-02 22:27:41 949