ขึ้นทะเบียน “หมอนวด” ยกระดับคุณภาพร้านนวด-สปา
|
|
สบส. ย้ำ “หมอนวด” ต้องขึ้นทะเบียน ร้านนวด ร้านสปา รับพนักงานนวดไม่มีใบรับรองเข้าข่ายผิดกฎหมาย หวังยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย ขจัดปัญหาสปา นวดไทยไร้มาตรฐาน
นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ 27 ก.ย. 2559 และมีการประกาศใช้กฎหมายลูกอีก 6 ฉบับ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นผู้ให้บริการได้ และผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องรับผู้ให้บริการที่ได้รับใบรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพแล้วเท่านั้น โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพของผู้ให้บริการ ขจัดปัญหาสปา นวดไทยไม่มีมาตรฐาน คุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้รับบริการ ซึ่งผู้ให้บริการที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ สามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการ โดยในเขตกรุงเทพฯ ยื่นคำขอ ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ส่วนต่างจังหวัด ให้ยื่น ณ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ หรือยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ www.spa.hss.moph.go.th ทุกช่องทางไม่เสียค่าธรรมเนียม และใบรับรองใช้ได้ตลอดชีพ ทั้งนี้ ยื่นคำขอพร้อมเอกสารหลักฐาน ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
นพ.วิศิษฎ์ กล่าวว่า พ.ร.บ. กำหนดให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ได้รับวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ ที่ได้รับการรับรองจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (ตรวจสอบหลักสูตรที่ผ่านการรับรองได้ที่ เว็บไซต์กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ www.thaispa.go.th) เป็นผู้ที่ไม่วิกลจริต ไม่ถูกพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับเพศ/ทรัพย์/ยาเสพติด หรือการค้าประเวณี เว้นแต่ได้พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีก่อนวันยื่นคำขอขึ้นทะเบียน ไม่ป่วยด้วยโรคติดต่ออันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติด ในกรณีที่ทราบภายหลังว่ามีคุณสมบัติไม่ครบ หรือมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว จะถูกลบชื่อออกจากทะเบียนของ กรม สบส. ทันที
“ทั้งนี้ กลุ่มผู้ให้บริการที่ได้รับวุฒิบัตร หรือประกาศนียบัตรด้านการบริการเพื่อสุขภาพ นอกเหนือจาก หลักสูตรที่กรมฯให้การรับรอง สามารถนำหลักสูตรที่เรียนมาเทียบเคียงได้ หากผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถประกอบอาชีพเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้ โดยผู้ให้บริการฯกลุ่มดังกล่าวนั้น ต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ส่วนกรณีของผู้พิการทางสายตาที่ประกอบอาชีพเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ที่ได้รับการอบรม หรือถ่ายทอดความรู้ตามหลักสูตรของสถาบันการศึกษา หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก่อนวันที่ 27 กันยายน 2559 ให้ถือว่าเป็นวุฒิบัตรหรือประกาศนียบัตรที่กรมให้การรับรอง กรณีนี้ สามารถยื่นลงทะเบียนได้ถึง 23 ธันวาคม 2560” อธิบดี สบส. กล่าว
|
|
ที่มา http://manager.co.th/Home/
katika unjitanusorn 2017-05-09 19:00:33 6767