ต้นทุนค่าอาหารอยู่เหนือต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเป็นไปตามผลการสำรวจในชุด The Spend Sacrifice Report ถึงความเป็นกังวลใจของครอบครัวชาวออสเตรเลียในค.ศ.นี้
แผนกผลไม้และผักสดในซูเปอร์มาเก็ต : ภาพจาก buywesteatbest.org.au
จากการสำรวจทางออนไลน์ชุดนี้พบว่าค่าจับจ่ายซื้อของชำเพื่อประกอบอาหารได้สร้างความรู้สึกกดดันให้กับครัวเรือนมากที่สุดในอัตรา 88%
รองลงมาคือราคาน้ำมันรถยนต์ (83%) และค่าไฟฟ้าและแก๊ส (78%) เป็นค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดความกังวลอยู่ในอันดับตามมา ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินกู้จำนองเพื่อซื้อบ้านและค่าเช่าที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 65%
นาง Abigail Koch โฆษกหญิงของเว็บไซท์ Compare the Market ผู้จัดทำการสำรวจครั้งนี้กล่าวถึงผลการสำรวจว่า อาหารสดที่รวมถึงผัก, เนื้อและปลามีผลกระทบต่องบประมาณรายจ่ายของครอบครัวมากที่สุด เธอกล่าวว่ารายจ่ายค่าของชำเป็นรายจ่ายประจำสัปดาห์ที่ทำให้ครัวเรือนรู้สึกเจ็บต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากที่สุด ผิดกับค่าไฟฟ้าและค่าแก๊สแม้จะมีราคาสูงขึ้นแต่มันเป็นค่าใช้จ่ายรายสามเดือนที่ไม่เจ็บถี่เหมือนค่าใช้จ่ายซื้อข้าวปลาอาหาร
ส่วนราคาน้ำมันรถยนต์ได้ลดลงในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา แต่ประชาชนก็ยังเที่ยวตระเวนหาปั๊มน้ำมันที่พวกเขาพอใจ
อย่างไรก็ตามผลการสำรวจที่ออกมาอาจขัดแย้งกับข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอัตราค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราลดลง โดยต้นทุนค่าอาหารและน้ำดื่มที่ไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอร์ได้สูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 2.5% เท่านั้น
(ขออนุญาตเสริมตามความรู้สึกของจิงโจ้นิวส์ที่ต้องจับจ่ายซื้อสินค้าเองเป็นประจำพบว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมาราคาเนื้อวัว เนื้อแกะ และเนื้อหมูเพิ่มขึ้นสูงมากจนนาน ๆ ครั้งจึงซื้อมารับประทานสักมื้อ ในขณะที่ราคาปลา, อาหารทะเล, เนื้อไก่และไข่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก)
สำหรับค่าใช้จ่ายที่ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อครัวเรือนในการดำรงชีวิตจากผลการสำรวจชุด The Spend Sacrifice Report มีดังนี้
1) ค่าอาหาร 88%
2) ค่าน้ำมันรถยนต์ 83%
3) ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน 78%
4) การแบ่งสันเงินสำหรับอนาคตของครอบครัว 73%
5) ค่าใช้จ่ายในต้นทุนเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน 66%
6) ค่าชำระบัตรเครดิต / เงินกู้ส่วนบุคคล 64%
7) ค่าประกัน 52%
8) ค่าดูแลสุขภาพ / เมดิแคร์ 51%
ที่มา : jingjonews