2024-12-24

จ่อสร้างรถไฟเร็วสูง 3 เส้นทาง



"ประจิน"แจงรถไฟเร็วสูง 3 เส้นทาง จ่อตอกเสาเข็ม ไทย-ญี่ปุ่นลงนาม 2 เส้น พ.ค.นี้ เริ่มสร้างต้นปี“


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังนายฮิโระโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นว่า ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือระบบราง 2 ฉบับ วันที่ 26-27 พ.ค.58 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  โดยการลงนามฉบับแรก เป็นข้อตกลงในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น 2 เส้นทาง คือ กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ 574 กม. และ 2.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ 715 กม. ซึ่งเริ่มก่อสร้างได้ช่วงเดือนม.ค.ปีหน้า ขณะที่เส้นทาง ตาก-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์-ขอนแก่น-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร ระยะทาง 718 กม. จะเป็นแค่การศึกษาร่วมกันเท่านั้น ส่วนการลงนามฉบับที่ 2 จะเป็นความร่วมมือการพัฒนาระบบขนส่งทางรางร่วมกัน ในการวางโครงข่ายเส้นทางระบบรางภาคตะวันออกที่มีรถไฟหลายระบบ การพัฒนาการขนส่งสินค้า ตลอดจนแนวทางการพัฒนาบุคลากร

สำหรับจากการหารือร่วมกันรถไฟไทย-จีน ประเทศจีน มั่นใจว่าทั้ง 4 ช่วงจะก่อสร้างได้เสร็จในปี 61 และเชื่อมต่อเส้นทางกับรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง คุณหมิง-เวียงจันทน์ ได้ในปี 62 แม้ขณะนี้จะเส้นทางบางช่วงที่ล่าช้าอยู่บ้าง โดยมีรายละเอียดดังนี้ ช่วงแรกเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย จะสำรวจพื้นที่เสร็จ และก่อสร้างได้ตามกำหนดเดือน ต.ค.58 ส่วนช่วงแก่งคอย-มาบตาพุด อาจล่าช้ากว่าแผนเพราะรอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่  ขณะที่ช่วงแก่งคอย-นครราชสีมา สำรวจได้เร็วกว่าแผน เสร็จเดือน ต.ค.58  ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย สำรวจเสร็จเดือน ก.พ.59  ช้ากว่าแผนเล็กน้อย

รูปแบบการลงทุนและแหล่งเงินจากจีน ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป  โดยกระทรวงการคลังจะไปหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของประเทศจีน ให้ได้ข้อสรุปในเดือนส.ค.นี้ โดยมีการลงทุนให้เลือก 3 แนวทาง คือ การแยกบริษัทเป็น 2 บริษัทเพื่อเดินรถ และซ่อมบำรุง  หรือ ตั้งบริษัทเดียวแต่ทำหน้าที่ทั้งเดินรถและซ่อมบำรุง และการตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน เพื่อดูแลบริษัทย่อยอีกที และหลังจากนี้ทั้ง2 ฝ่ายจะนัดหารือร่วมกันในวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.58  จ.นครราชสีมา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า การก่อสร้างรถไฟทางคู่ไทย-ญี่ปุ่นทั้ง 2 เส้นทาง คาดว่าญี่ปุ่นจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ และกำหนดรูปแบบกับเส้นทางการก่อสร้างช่วงเดือนมิ.ย.58 โดยใช้เวลา 6 เดือน เพื่อให้เริ่มก่อสร้างได้เดือนม.ค.59 ขณะเดียวกันจะมีการหารือเรื่องรูปแบบการลงทุนและแหล่งเงินทุนควบคู่กันไปด้วย โดยทางญี่ปุ่นมีความพร้อมมาก เพราะมีแหล่งเงินกู้หลายแห่ง ทั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจบิค) และ การจัดทำความร่วมมือทวิภาคี

“เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 55 ซึ่งนำผลศึกษาเดิมทบทวนใหม่ ขณะที่เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ ทำเพื่อเสริมศักยภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษจากทวาย-แหลมฉบัง โดยรูปแบบการลงทุนมีแนวทางเปิดให้ญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุน ด้านการก่อสร้างพื้นฐานและการเดินรถ ตลอดจนแหล่งเงินทุนอย่างเต็มที่” 

 

เครดิตข้อมูลจาก สำนักข่าวเดลินิวส์

 

Natui Website 2015-05-13 10:28:57 3413