2025-01-23

นายกฯ เชื่อมั่นการรวมกลุ่มส่งเสริมเอเชีย-แปซิฟิกแกร่งขึ้น



นายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีเอเปก ย้ำไทยเร่งสร้างประชาธิปไตยที่ยังยืน ปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เชื่อมั่นการรวมกลุ่มส่งเสริมเอเชีย-แปซิฟิกแกร่งขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเอเปก ช่วงที่ 1 ในหัวข้อ การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Advancing Regional Economic Integration) ว่า การจะทำให้เอเชีย-แปซิฟิกคงความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนได้ จะต้องเร่งสร้างหลักประกันความแข็งแกร่งจากภายในประเทศ คือระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ยืนยันว่าประเทศไทยยึดมั่นกับค่านิยมความเป็นประชาธิปไตย และขอเวลาเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนไทยอย่างแท้จริง โดยยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ความเท่าเทียม ความโปร่งใส และยุติธรรม ในทุกภาคส่วน

ด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลไทยจะเร่งปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน เท่าเทียม และมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงการพัฒนาเศรษฐกิจได้

 

นายกฯ เชื่อมั่นการรวมกลุ่มส่งเสริมเอเชีย-แปซิฟิกแกร่งขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเอเปก ช่วงที่ 1 ในหัวข้อ การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Advancing Regional Economic Integration) ว่าเอเปกฉลองครบรอบ 25 ปี ความสำเร็จที่สำคัญของเอเปก คือ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุน และจะสานต่อเป้าหมายการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอฟ-แทป (FTAAP)

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การรวมกลุ่มจะส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแข็งแกร่งขึ้น และจะนำพาเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมสนับสนุนการจัดทำ “แผนการดำเนินงานปักกิ่งฯ” เพื่อให้ “เอฟ-แทป” มีความคืบหน้า และเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ต้องคำนึงถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของสมาชิกเอเปก และมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (step-by-step) ต่อยอดจาก FTA ที่ดำเนินการอยู่แล้วในภูมิภาค เช่น อาร์-เซพ (RCEP - Regional Comprehensive Economic Partnership) ทีพีพี (TPP - Trans Pacific Partnership) และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก (Pacific Alliance)

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจเพื่อนบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายใต้กรอบอนุภูมิภาค เพื่อให้ก้าวเดินไปพร้อมกัน รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จำนวน 5 แห่ง กับลาว กัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซีย เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนให้เป็นประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ เอเปกต้องให้ความสำคัญกับการค้าที่เคารพต่อกติกาด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรม เช่น การป้องกันการค้าไม้ผิดกฎหมาย และการค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะงาช้าง ไทยได้ยื่น
แผนปฏิบัติการงาช้างต่อไซเตส (CITES) เพื่อย้ำความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างของไทย

 

นายกฯ ไทยชูปฏิรูปการศึกษาลดความเหลื่อมล้ำ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในการประชุมเอเปก ช่วงที่สอง (Retreat II) ในหัวข้อ การส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโต (Promoting Innovative Development, Economic Reform and Growth) ว่า เป้าหมายสำคัญของเอเปก คือการสร้างความเจริญเติบโต ต้องการเห็นความเจริญเติบโตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน เท่าเทียม เป็นธรรม รัฐบาลไทยได้เห็นถึงความสำคัญกับการพัฒนา โดยเฉพาะการพัฒนาที่เน้นคุณภาพ ลดความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งการพัฒนาคนถือเป็นหัวใจของการพัฒนาช่วยให้ระบบเศรษฐกิจก้าวหน้า
อย่างยั่งยืน ไทยมีแผนปฏิรูประบบการศึกษา เน้นการศึกษาที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ คนไทยทั่วประเทศจะต้องได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวสนับสนุนความร่วมมือของเอเปก ในการส่งเสริมการศึกษาข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาจำนวน 1 ล้านคน ระหว่างสมาชิกเอเปกภายในปี ค.ศ. 2020 และการให้ทุนการศึกษาเอเปก เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานรุ่นใหม่ปรับตัวเข้ากับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่อไป ส่วนการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ผ่านการพัฒนานโยบายป้องกัน ควบคุม และรักษาโรค ข้อริเริ่มของจีนเรื่อง Healthy Asia Pacific 2020 เป็นความร่วมมือที่มีประโยชน์ และตรงกับการดำเนินการของไทย จึงเชื่อว่า ไทยจะสามารถมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ในความร่วมมือด้านนี้ของเอเปกต่อไป

ที่มา news.sanook.com

Manager M 2014-11-12 11:05:14 3140