2025-01-23

ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญา



วันนี้ยังคงต้องพูดถึงเรื่องปัญหาผู้อพยพทั้งในยุโรปและเอเชีย ที่กลายเป็นปัญหาสากลที่ทั้งประเทศต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทางต้องเผชิญกับปัญหาที่แตกต่างกันไป กลายเป็นประเด็นที่ความเห็นของสังคมแตกออกเป็นสองฝั่ง




เหตุการณ์เรือขนผู้อพยพข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อัปปางไม่เว้นแต่ละวันทำให้ปัญหาผู้อพยพทะลักเข้าประเทศปลายทางกลับมาสู่สายตานานาชาติอีกครั้ง รวมถึงประเทศที่เกี่ยวข้องถูกตั้งคำถามว่าควรจะช่วยเหลืออย่างไร ปัญหาระดับสากลนี้เด่นชัดขึ้นอีกเมื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เผชิญกับปัญหาคล้ายกัน ตอกย้ำว่าประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ปราศจากความขัดแย้งเป็นดินแดนแห่งความหวังของมนุษย์ทุกคนไม่ว่าในยุคสมัยไหน แต่ปัจจุบันไม่เหมือนในอดีต เพราะแต่ละประเทศมีกฎหมายชัดเจนเรื่องของการย้ายถิ่นฐาน ทำให้ขบวนการนำคนเข้าเมืองหันมาหากินกับความหวังของคนที่กำลังไม่มีทางเลือก แต่ไม่นับว่าเป็นการค้ามนุษย์เพราะชาวโรฮิงญาเดินทางมาด้วยความสมัครใจ 



ปัญหาผู้อพยพลักลอบเข้าประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่กับทั้งยุโรปและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สื่อต่างประเทศรายงานตรงกันว่าในทุกๆ ปีก่อนเข้าช่วงฤดูมรสุม ชาวโรฮิงญาหลายพันคนตัดสินใจเสี่ยงชะตาชีวิตลงเรือประมงเก่าๆ เพื่ออพยพหนีออกจากเมียนมาเนื่องจากถูกกลุ่มศาสนาพุทธหัวรุนแรงต่อต้าน รวมถึงเมียนมาไม่ยอมรับโรฮิงญาเป็นพลเมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้นักเคลื่อนไหวออกมาบอกว่านี่เท่ากับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์



สหประชาชาติเปิดเผยว่าชาวโรฮิงญาไม่ได้เป็นเพียงชนกลุ่มน้อยกลุ่มเดียวที่หนีออกนอกเมียนมาเพียงแต่เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมาก ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเลือกที่จะหนีเข้าบังกลาเทศเนื่องจากมีพรมแดนติดกับเมียนมา ซึ่งที่นั่นมีค่ายผู้อพยพอยู่ 2 ค่าย ขณะที่บางกลุ่มเลือกที่จะเสี่ยงตายกลางทะเลเพื่อเข้าสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจดีกว่าและเป็นประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย



ข้อมูลอีกด้านจากสหประชาชาติเปิดเผยให้เห็นว่าในปี 2013 ชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าประเทศไทยกว่า 500,000 คน มาเลเซีย 80,000 คน อินโดนีเซีย 1,500 คน และออสเตรเลีย 600 คน ซึ่งในปีนั้นออสเตรเลียได้สั่งปฏิบัติการหยุดผู้อพยพขึ้นแผ่นดินออสเตรเลีย



ล่าสุดฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ประกาศว่าจะต้อนรับชาวโรฮิงญา ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียประเทศเป้าหมายของชาวโรฮิงญาตกลงที่จะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ชาวโรฮิงญาก่อนจะส่งกลับหรือส่งต่อผู้อพยพภายใน 1 ปี ขณะที่เมียนมาประเทศต้นทางกลับลำตอนสุดท้ายว่าจะร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหานี้



ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ต้องการดินแดนที่อยู่อาศัยที่สามารถให้พวกเขามีชีวิตใหม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่ระหว่างนั้นจำเป็นต้องปราบปรามกลุ่มที่หาประโยชน์จากความเดือดร้อนของพวกเขาอย่างจริงจัง

 

เครดิตข้อมูลจาก เวปครอบครัวข่าว 3

Natui Website 2015-05-22 11:28:52 4308