เอเจนซีส์ - ชาวเนปาลที่ยังอยู่ในอาการหวาดผวา ต้องใช้ชีวิตอาศัยในเต็นท์กลางแจ้ง และเฝ้ารอความช่วยเหลือหลังแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี ที่ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจนถึงค่ำวันจันทร์ (27เม.ย.) เพิ่มเป็นกว่า 3,800 คน ขณะที่ทีมกู้ภัยจากนานาชาติซึ่งทยอยเดินทางมาถึง ประสานงานทีมปฏิบัติการเนปาล เร่งรีบค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางอาคารสิ่งปลูกสร้างที่หักพัง
ทีมกู้ภัยที่มีเครื่องมือตัดเหล็กและสิ่งของบรรเทาทุกข์ หลั่งไหลอย่างไม่ขาดสายจากทั่วโลกเข้าสู่เนปาล เพื่อร่วมปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวความแรง 7.8 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (25)
เจ้าหน้าที่หลายๆ ฝ่ายแถลงว่า จนถึงตอนค่ำวันจันทร์นั้น ทราบแล้วว่าธรณีพิโรธคราวนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 3,800 คน เฉพาะในเนปาลก็เป็นจำนวน 3,793 คน ทำให้กลายเป็นภัยพิบัติครั้งที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดของประเทศซึ่งอยู่ติดเทือกเขาหิมาลัยและเผชิญกับแผ่นดินไหวเป็นประจำแห่งนี้
นอกจากนั้นยังมีผู้เสียชีวิตกว่า 90 คนในชาติเพื่อนบ้านอย่างอินเดียและจีน ขณะที่จำนวนผู้ได้บาดเจ็บเฉพาะในเนปาลอยู่ที่ 6,509 คน
ชาวเนปาลในเมืองหลวงกาฐมาณฑุ พากันไปพำนักอย่างแออัดอยู่ในสวนสาธารณะและพื้นที่โล่งอื่นๆ หลังจากแผ่นดินไหวทำลายบ้านพังพินาศไปเป็นจำนวนมาก มิหนำซ้ำยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกเกือบ 100 ครั้ง ส่งผลให้แม้กระทั่งประชาชนรายที่บ้านไม่เสียหายก็ไม่กล้ากลับไปยังที่พักอาศัย ถึงแม้คนจำนวนมากมีเพียงแผ่นพลาสติกเท่านั้นที่จะใช้ป้องกันความหนาวและสายฝนที่เทลงมา ผู้คนเหล่านี้กำลังตั้งตารอความช่วยเหลือจากต่างชาติ รวมทั้งพยายามหาข้อมูลข่าวสาร ท่ามกลางความสับสนเนื่องจากทั้งระบบโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตล้วนถูกตัดขาด หรือใช้ได้เพียงในบางพื้นที่เท่านั้น
บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมัน มีผู้คนเข้าแถวรอซื้อกันยาวเหยียด ขณะที่ชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตว่างเปล่า กระแสไฟฟ้าและน้ำประปาไม่มีใช้
โรงพยาบาลต่างๆ สับสันอลหม่าน ห้องเก็บศพล้น แพทย์พยาบาลทำงานแข่งกับเวลาเพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย เจ้าหน้าที่รัฐบาลพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรับมือการขาดแคลนน้ำดื่ม อาหาร และภัยคุกคามของโรคติดต่อ
ผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บจำนวนมากต้องนอนอยู่กลางแจ้ง เนื่องจากไม่มีเตียงผู้ป่วยรองรับ แม้หลายโรงพยาบาลตั้งเต็นท์ผ่าตัดนอกอาคาร
รายงานขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ระบุว่า เนปาลมีแพทย์เพียง 2.1 คนและเตียงคนไข้ 50 เตียงสำหรับประชาชนทุก 10,000 คน
ในกาฐมาณฑุ มีโบราณสถานมากมายพังทลายหรือไม่ก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
นอกจากสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรที่มีจำกัดของประเทศยากจนแห่งนี้แล้ว แผ่นดินไหวยังส่งผลร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของเนปาล
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเมืองโภครา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงผจญภัยของเนปาล และหลายฝ่ายกังวลว่า จะได้รับความเสียหายอย่างหนักนั้น กลับปรากฏว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ และนักท่องเที่ยวยังทำกิจกรรมวันพักผ่อนตามปกติ
เครดิต ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์