รอยเตอร์ - การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ “เมดิคัลฮับ” ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีประสบการณ์สูง และสามารถสกัดกั้นไวรัสกลุ่มทางเดินหายใจสายพันธุ์ตะวันออกกลาง (MERS) ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หลังมีการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้เข้าไทยคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี และไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับผู้ป่วยที่แสวงหาบริการทางการแพทย์ที่ราคาถูกแต่มีคุณภาพ โดยเฉลี่ยแล้วมีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เดินทางมายังประเทศไทยมากถึง 1.4 ล้านคนต่อปี ในขณะที่สิงคโปร์มีตัวเลขนักท่องเที่ยวประเภทนี้เพียง 600,000 คน ตามข้อมูลจากสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทย
ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงมีเดิมพันค่อนข้างสูง เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (18 มิ.ย.) ว่า พบชายชาวโอมานวัย 75 ปีที่เดินทางมารักษาโรคหัวใจในไทย นำเชื้อไวรัส MERS ติดตัวมาด้วย
เกาหลีใต้ซึ่งเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดครั้งรุนแรงที่สุดของไวรัส MERS รองจากซาอุดีอาระเบีย ประกาศพบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 3 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 รายในวันที่ (22) ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในแดนโสมขาวขยับเป็น 172 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตแล้ว 27 ราย
ในส่วนของไทยนั้น แม้ทางการจะประกาศว่ามีผู้ที่อยู่ในข่ายเสี่ยงได้รับเชื้อ MERS จากชายชาวโอมานถึง 176 คน แต่ นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันวันที่ (22) ว่า ยังไม่พบการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่บุคคลอื่น
“เนื่องจากเราเป็นทั้งศูนย์กลางการท่องเที่ยวและศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ จึงทำให้ไทยมีการเตรียมพร้อมที่ดีพอ” กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูล รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
“เรามีประสบการณ์ในการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้ป่วยที่เดินทางมาจากภูมิภาคที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ตะวันออกกลาง และเกาหลีใต้ อีกทั้งไทยยังมีเวลามากพอที่จะเตรียมตัว เพราะเราได้เห็นบทเรียนในเกาหลีใต้มาแล้ว”
นอกจากจะเป็นประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยมากกว่า 25 ล้านคนต่อปีแล้ว กรุงเทพมหานครยังเป็นศูนย์กลางการบินหลักในภูมิภาคอีกด้วย
สนามบินสุวรรณภูมิมีการแจกหน้ากากอนามัยแก่ผู้โดยสารตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขและรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและกีฬาก็ได้นำผู้สื่อข่าวไปชมเครื่องเทอร์โมสแกนสำหรับคัดกรองผู้โดยสารขาเข้า และหลุมจอดที่จัดไว้เฉพาะสำหรับรองรับเที่ยวบินที่มาจากกลุ่มประเทศเสี่ยง 7 ประเทศ
ศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า ทางสนามบินยังได้สั่งเพิ่มมาตรการคัดกรองเป็นพิเศษสำหรับผู้โดยสารจากเกาหลีใต้และตะวันออกกลาง
นักธุรกิจชาวโอมานซึ่งติดเชื้อ MERS ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สถานพยาบาลของไทยที่มีชื่อเสียงในหมู่ชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวตะวันออกกลาง ต่อมาจึงถูกส่งต่อไปยังห้องแยกโรคภายในสถาบันบำราศนราดูร ขณะที่แพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ออกมายืนยันเมื่อวันศุกร์ (19) ว่า แพทย์และเจ้าหน้าที่ 58 คนซึ่งอยู่ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยชาวโอมานถูกคัดแยกเพื่อรอสังเกตอาการแล้ว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เท่าที่ได้ตรวจสอบขั้นตอนการดูแลผู้ป่วย MERS ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พบว่ารัดกุม “ไร้ที่ติ”
“โรงพยาบาลนำผู้ป่วยไปไว้ในห้องแยกโรค และได้ดำเนินทุกมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย” นพ.ประเสริฐ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีฐานที่นครเจนีวา ก็ได้แถลงชื่นชมมาตรการตอบสนองของไทยผ่านทางอีเมล์ที่ส่งถึงรอยเตอร์
“ประเทศไทยได้ทำการวินิจฉัย และคัดแยกผู้ป่วย MERS ส่งไปยังสถานพยาบาลเฉพาะที่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย” ดร.ปูนัม เคทราปัล สิงห์ ผู้อำนวยการ WHO ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุ
โจเซฟ วูดแมน ผู้บริหารเว็บไซต์ผู้ป่วยไร้พรมแดน (Patients Beyond Borders) ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนไทยอาจลดลงบ้างในระยะนี้ แต่เชื่อว่ากระแสข่าวไวรัส MERS จะส่งผลกระทบต่อไทยในระยะสั้น เช่นเดียวกับเหตุการณ์รัฐประหารซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว
โจเซฟีน กีโยต์ นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาชาวฝรั่งเศสซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ระบุว่า เธอเลือกมาตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ทั้งๆ ที่ทราบว่าพบผู้ติดเชื้อ MERS รายแรกของไทยที่นี่
“ฉันรู้สึกสบายใจเมื่อมารับบริการที่นี่... ข่าวผู้ป่วย MERS ไม่ได้ทำให้ฉันกลัวเลย”
เครดิตจาก เวปไซด์ผู้จัดการออนไลน์