2025-01-23

วันสตรีสากล International Women's Day



วันสตรีสากล (International Women's Day) ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ผู้หญิงจากทั่วโลกที่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านจริยธรรม ภาษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมือง จะได้มาร่วมเฉลิมฉลองถึงความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และในหลายๆ ประเทศยังกำหนดให้วันนี้เป็นวันหยุดประจำปีอีกด้วย

 

 

ความเป็นมาของ วันสตรีสากล เริ่มขึ้นจากเหตุการณ์ใน เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบ กดขี่ ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้างที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ความเป็นอยู่ของแรงงานสตรีในเมืองชิคาโก ที่ไม่ต่างอะไรจากทาสนิโกรในเงื้อมมือคนผิวขาว เพราะต้องทำงานวันละ 12-15 ชั่วโมง แต่ได้รับค่าแรงานเพียงน้อยนิด ส่วนสตรีตั้งครรภ์มักถูกไล่ออก

 

ในที่สุดภายใต้การนำของ คลาร่า แซทคิน (Clara Zetkin ) ผู้นำกรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าชาวเยอรมัน ลุกฮือขึ้นสู้ด้วยการเดินขบวนนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 โดยเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานจากวันละ 12-15 ชั่วโมง ให้เหลือวันละ 8 ชัวโมงพร้อมทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการภายในโรงงาน และให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั้งโลก และส่งผลให้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน

 

อย่างไรก็ตามอีก 3 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1910 ข้อเรียกร้องของเหล่าบรรดากรรมกรสตรีก็ประสบความสำเร็จ เมื่อตัวแทนสตรีจาก 18 ประเทศ เข้าร่วม ประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยม ครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี โดยให้ลดเวลาทำงานให้เหลือเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และกำหนดให้ค่าแรงงานสตรีเท่าเทียมกับค่าแรงงานชาย อีกทั้งยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย นอกจากนั้นในการประชุมครั้งนั้น ยังได้มีการรับรองข้อเสนอของ คลาร่า แซทคิน ด้วยการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม เป็น วันสตรีสากล

 

ผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล


องค์กรในสหประชาชาติที่ทําหน้าที่พิทักษ์สิทธิสตรี

 

ผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล

 

คลาร่า เซทกิ้น (CLARA ZETKIN) ค.ศ.1857-1933

 

คลาร่า เซทกิ้น ได้รับการขนานนามว่า มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล เป็นผู้ให้กําเนิดวันสตรีสากล

 

นักการเมืองหญิงสายมาร์คซิสต์ ชาวเยอรมัน เป็นผู้ริเริ่มวันสตรีสากล ชื่อเดิมชื่อ คลาร่า ไอนส์เนอร์ เกิดที่เมืองไวเดอรูว์ แคว้นแซกโซนี่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูเมืองไลป์ซิก และพบรักกับเพื่อนนักศึกษาชาวรัสเซียนามว่า ออพซิป เซทกิ้น ต่อมา มีบุตร 2 คน และเป็นหม้ายในปี ค.ศ.1889

 

ในปี ค.ศ.1884 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic party) ต่อมาพรรคโดนยุบ และคลาร่าได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์

 

ค.ศ.1907 คลาร่าได้กลับสู่เยอรมันดินแดนมาตุภูมิ พร้อมกับการก่อตั้ง กลุ่มนักสังคมนิยมหญิง และได้ริเริ่มในการเสนอให้กําหนดวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีให้เป็นวันสตรีสากล

 

ค.ศ.1914 ในขณะที่ประเทศเยอรมันกําลังทําสงครามโลกครั้งที่ 1 คลาร่า ได้ร่วมมือกับ โรซ่า ลัมเซมเบอรค์ ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 1 ในนามกลุ่ม สปาร์ตาซิสต์ ( *กลุ่มสปาร์ตาซิสต์ (spatarcist) เป็นกลุ่มกรรมกรในเยอรมันที่ประท้วงรัฐบาลเยอรมันสมัยนั้น ในการทําสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยความคิดที่ว่า ทหารที่ส่งไปรบก็คือ ประชาชน สงครามเป็นการกระทําที่สนองตัณหาของรัฐบาล แต่ประชาชนมีแต่ต้องสูญเสีย)

ค.ศ.1918 ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน และได้เป็นผู้แทนในสภาไรซ์สตัก (สภาผู้แทนของเยอรมันยุคนั้น)

 

ค.ศ.1920-1932 สุนทรพจน์ครั้งสุดท้ายของคลาร่าในสภาเยอรมัน คลาร่าได้กล่าวโจมตี อดอฟ ฮิตเลอร์อย่างรุนแรง และเรียกร้องหาแนวร่วมที่จะช่วยกันต่อต้านพรรคนาซีเยอรมัน ซึ่งกําลังมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองเยอรมัน

 

ค.ศ.1933 พรรคนาซีเยอรมันได้ ประสบความสําเร็จในการยึดอํานาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ และให้อํานาจทุกอย่างขึ้นอยู่กับท่านฟูเร่อร์ (ผู้นํา) คลาร่าจึงเป็นหนึ่งในนักการเมืองสายความคิดสังคมนิยม ที่ถูกกวาดล้าง จนต้อง
ลี้ภัยการเมืองไปใช้ชีวิตที่รัสเซีย และถึงแก่กรรมในปีเดียวกันนี้

 

องค์กรในสหประชาชาติที่ทําหน้าที่พิทักษ์สิทธิสตรี

 

(1) คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (UNCSW) มีหน้าที่กําหนดแนวทางการยกระดับสถานภาพสตรี ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และด้านการศึกษา

 

(2) คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) มีหน้าที่ตรวจสอบว่าประเทศภาคีอนุสัญญาฯปฏิบัติตามข้อกําหนดของอนุสัญญาฯ หรือไม่

 

- แผนกเพื่อความก้าวหน้าของสตรี ทําหน้าที่เป็นสํานักงานเลขานุการ ดําเนินการวิจัยและทํางานสนับสนุนองค์กรทั้งสองข้างต้น

 

- กองทุนพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) ทําหน้าที่สนับสนุนโครงการต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการผสานสตรีในกระบวนการพัฒนา ด้วยวิธีการส่งเสริมกิจกรรมสร้างเสริมรายได้ขนาดย่อม

 

- สถาบันวิจัยและฝึกอบรมระหว่างประเทศเพื่อความก้าวหน้าของสตรี(INSTRAW) เป็นแหล่งให้เงินทุนอุดหนุน และมีหน้าที่ทําวิจัยเพื่อยกระดับวิธีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนา

 

 

ที่มา : SANOOK

 

Natui Website 2016-03-07 23:52:13 3541