2025-01-23

สรุปข่าวเด็ดปี 2557 (2014)



ปี 2557 (2014) ที่กำลังจะปิดฉากลง เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในหลายประเทศ การผงาดขึ้นมาของกลุ่มรัฐอิสลาม และการคว้ารางวัลโนเบลของมาลาลา รวมทั้งการยึดอำนาจทางการเมืองในประเทศไทย ก็ติดข่าวเด่นปี 2557 ด้วยนะ

(รายละเอียดบรรยายใต้ภาพ)

2 ม.ค. : ช่วยชีวิตที่แอนตาร์กติกา หลังจากติดน้ำแข็งกลางมหาสมุทรในทวีปแอนตาร์กติกาอยู่ 8 วัน ผู้โดยสาร 54 คนบนเรือเอ็มวี อคาเดมิค โชคัลสกี (ในภาพ) ก็ได้รับการช่วยชีวิตจาก เฮลิคอปเตอร์ที่เรือตัดน้ำแข็งของจีนส่งไปลำเลียงผู้โดยสารต่อไปยังเรือของออสเตรเลีย

 

12 ม.ค. : รางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 71 - นักแสดงและผู้กำกับจากภาพยนตร์เรื่อง 12 Years a Slave ถ่ายภาพร่วมกัน หลังจากคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาดราม่า ในงานประกาศรางวัลลูกโลกทองคำ ประจำปี 2557 (ครั้งที่ 71) ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง American Hustle คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาตลก-เพลง ส่วนเอมี่ อดัมส์ กับเคท แบลนเชตต์ ได้นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม แมทธิว แมคคอนนาเฮย์ กับลีโอนาร์โด ดีคาปริโอ คว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ,

 

25 ม.ค. : ผู้นำฝรั่งเศสแยกทางภรรยา - หลังจากนิตยสาร Closer รายงานว่าประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ กุ๊กกิ๊กกับนักแสดงสาว จูลี กาเยต์ จากนั้นไม่นานผู้นำฝรั่งเศสก็ประกาศแยกทางกับวาเลอรี ทริเอวีเลร์ (ในภาพ) ภรรยาที่ใช้ชีวิตร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2550 

 

ตั้งแต่ม.ค.2557 : อีโบลาระบาดในแอฟริกาตะวันตก - เริ่มมีการติดเชื้อไวรัสอีโบลาที่กินีเมื่อปลายปี 2556 จากนั้นก็ลามไปเพื่อนบ้าน ไลบีเรีย กับเซียร์ราลีโอน อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็การนระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,000 ราย และผู้ติดเชื้อ 17,834 คนนับถึงวันที่ 8 ธ.ค.

 

3 ก.พ. : "เยลเลน"เข้ารับตำแหน่งประธานเฟด เจเนต เยลเลน เป็นสตรีคนแรกที่ได้ทำหน้าที่ประธานธนาคารกลางสหหรัฐ (เฟด) โดยเข้ารับตำแหน่งต่อจากเบน เบอร์นันกี

 

7 ก.พ. : โอลิมปิกฤดูหนาวที่โซชิ - มีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชิของรัสเซีย ท่ามกลางความวิตกด้านความปลอดภัยและเสียงประณามการต่อต้านพวกรักร่วมเพศของรัสเซีย


22 ก.พ. : รวบอาชญากรตัวเอ้ของโลก - ประธานาธิบดีเอนริเก พีนา นีเอโตรของเม็กซิโก ยืนยันการจับกุมตัวโจควิน กูซมาน ลอเอรา หรือ "เอลชาโป" ซึ่งถูกกระทรวงการคลังสหรัฐระบุว่าเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ในฐานะหัวหน้าแก๊งไซลาโลอา โดยเอลชาโปถูกรวบตัวที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งในเมืองมาซาตลัน

 

ตั้งแต่ 24 ก.พ. : การปฏิวัติยูเครน - การกลับลำไม่ลงนามข้อตกลงกับอียูของประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิชแห่งยูเครน เพราะเห็นแก่ความสัมพันธ์กับรัสเซีย จุดชนวนการประท้วงครั้งรุนแรงที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนพ.ย.2556 เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อจนถึงจุดแตกหักในวันที่ 21 ก.พ. เมื่อยานูโควิชยอมจำนนต่อแรงกดดันและหนีออกจากเมืองหลวง

 

2 มี.ค. : รางวัลออสการ์ครั้งที่ 86 - นักแสดงเจ้าของรางวัลใหญ่ในงานออสการ์ปีนี้ ได้แก่ แมทธิว แมคคอนนาเฮย์ (นำชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง Dallas Buyers Club) เคท แบลนเชตต์ (นำหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง Blue Jasmin) ลูปิตา เอนยอง (สมทบหญิงยอดเยี่ยมจากเรื่อง 12 Years a Slave) และเจเรด เลโต (สมทบชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง Dallas Buyers Club)

 

8 มี.ค. : เที่ยวบิน 370 ล่องหน - เที่ยวบินที่ 370 จากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปกรุงปักกิ่งของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ หายไปพร้อมผู้โดยสาร 239 คน สร้างความเศร้าโศกและโกรธแค้นแก่บรรดา ญาติของผู้โดยสาร เพราะการค้นหาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบินตั้งแต่ทะเลจีนใต้ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย ไม่พบร่องรอยใดๆ จนก่อให้เกิดความฉงนแก่ผู้เชี่ยวชาญการบินที่ยอมรับว่าอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะพบเครื่องบินลำนี้

 

21 มี.ค. : ผนวกไครเมีย - หลังจากการปฏิวัติเมื่อเดือนก.พ. ภูมิทัศน์การเมืองของยูเครนก็พลิกโฉมไปอย่างรวดเร็ว เพราะรัสเซียไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่ของยูเครนขณะที่มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเข้าตรึงกำลังตามอาคารสำนักงานรัฐบาลในคาบสมุทรไครเมีย ความพยายามกลับไปรวมตัวกับรัสเซียของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียเข้มข้นขึ้นจนกระทั่งเซอร์เกย์ อักส์โยนอฟ ประกาศตัวเป็นนายกฯคนใหม่ของไครเมีย (ในภาพคือกองกำลังป้องกันตนเองฝักใฝ่รัสเซีย สาบานตนต่อรัฐบาลไครเมีย) จากนั้นอักส์โยนอฟได้ขอให้รัสเซียช่วยเข้าไปดูแลความเรียบร้อยในไครเมีย ในที่สุดก็มีการผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

 

2 เม.ย.-12 พ.ค. : อินเดียเลือกตั้งครั้งใหญ่สุด - อินเดียจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 815 ล้านคน จนต้องแบ่งการลงคะแนนเป็น 9 ระยะและไปสิ้นสุดลงวันที่ 12 พ.ค. ผลปรากฎว่านเรนทรา โมดี (ในภาพ) ซึ่งเป็นผู้สมัครจากพรรคภราติยะชนตะ อันเป็นฝ่ายค้าน คว้าชัยไปอย่างง่ายดาย

 

14 เม.ย. : ลักพาตัวนร.หญิงไนจีเรีย - กลุ่มติดอาวุธ โบโก ฮาราม บุกเข้าไปในโรงเรียนมัธยมหญิงล้วนของหมู่บ้านชิบอก ประเทศไนจีเรีย แล้วนำตัววัยรุ่นประมาณ 276 คนขึ้นรถบรรทุกขับหายเข้าไปในหุบเขาไกลโพ้นแถบชายแดนคาเมรูน แม้นานาชาติรับปากจะช่วยตามหาเด็กๆ และกำจัดกลุ่มโบโก ฮาราม แต่มีนักเรียนไม่กี่คนที่ได้รับการช่วยเหลือ หรือหนีออกมาเองได้

 

16 เม.ย. : เรือเซวอลอับปาง - เรือเฟอร์รีเซวอล ซึ่งบรรทุกผู้โดยสาร 476 คนจากเมืองอินชอนไปเกาะเชจู อับปางลง ทำให้ผู้โดยสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยม เสียชีวิตไป 304 ราย นักเรียนเหล่านี้ได้รับคำสั่งให้หลบอยู่ในห่องพักขณะที่กัปตันลี จุนซอกและบรรดาลูกเรือหาทางหนีเอาตัวรอด จนเรียกเสียงประณามทั้งกัปตันและลูกเรือ พร้อมกับเสียงวิจารณ์ปฏิบัติการช่วยชีวิตที่ดำเนินไปหลังจากเรืออับปาง ในการพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 11 พ.ย.กัปตันลีถูกตัดสินจำคุก 36 ปีฐานละเลยหน้าที่

 

27 เม.ย. : ทอร์นาโดถล่มสหรัฐ - ทอร์นาโด 7 ลูกพัดถล่มตอนใต้ของสหรัฐ สร้างความเสียหายอย่างยับเยินและราบเป็นหน้ากลอง มีคนเสียชีวิต 36 ราย

 

13 พ.ค.: เหมืองระเบิด - ชายคนหนึ่งกอดลูกชายที่ได้รับการช่วยชีวิตขึ้นมา หลังจากเกิดเหตุระเบิดที่เหมืองถ่านหินโซมา ทางตะวันตกของตุรกี นับเป็นอุบัติเหตุเหมืองที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ตุรกั ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิต 301 ราย

 

22 พ.ค. : ยึดอำนาจในไทย - พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" และเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ พร้อมประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นการชั่วคราว

 

4 มิ.ย. : ครบรอบ 25 ปีเทียนอันเหมิน - ผู้คนหลายหมื่นไปร่วมจุดเทียนที่วิกตอเรียพาร์คในฮ่องกง เพื่อรำลึกวาระครบรอบ 25 ปีการปราบปรามการเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนอันเหมินในจีน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประท้วงเสียชีวิตไปประมาณ 2,500 ราย

 

6 มิ.ย. : ครบรอบ 70 ปีวันยกพลขึ้นบก - ปีนี้ครบรอบ 70 ปีการเริ่มต้น "ปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด" หรือยุทธการนอร์มังดีที่กองกำลังสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของสงครามโลกครั้งที่ 2 และนำไปสู่การสู้รบกับกองกำลังทหารฝ่ายอักษะ-นาซีเยอรมนี จนในที่สุดทหารสัมพันธมิตรเป็นฝ่ายชนะ

 

14 มิ.ย. : เลือกตั้งอัฟกานิสถาน - ลาลำเลียงอุปกรณ์เลือกตั้งไปยังคูหาในจังหวัดชูตัลและปันชีร์ ซึ่งไม่มีถนน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ที่จะเข้าทำหน้าที่ต่อจากฮามิด คาร์ไซ ซึ่งกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งก็ล่วงเข้าเดือนก.ย. เพราะมีเสียงกล่าวหาว่ามีการโกง กระทั่งในที่สุดมีการประกาศให้อัชราฟ กานี เป็นประธานาธิบดีคนใหม่

 

19 มิ.ย. : สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 ทรงขึ้นครองราชย์ - กษัตริย์ฆวน การ์โลสแห่งสเปน ทรงประกาศสละราชบัลลังก์ และให้พระราชโอรส มกุฎราชกุมารเฟลีเปขึ้นครองราชย์แทน หลังจากทรงขึ้นเป็นพระราชาธิบดีของสเปนมา 39 ปี (ในภาพคือสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลีเปที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเลตีเซีย) 

 

24 มิ.ย. : เรื่องอื้อฉาวดักฟังโทรศัพท์ - แอนดี คูลสัน อดีตผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของรัฐบาลอังกฤษและอดีตบรรณาธิการนิวส์ออฟเดอะเวิลด์ ถูกศาลลอนดอนตัดสินว่ามีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิดกันดักฟังโทรศัพท์ เซเลบและประชาชนหลายคนเป็นผู้ยื่นฟ้องสื่อของรูเพิร์ต เมอร์ดอค จนทำให้หนังสือพิมพ์นิวส์ออฟเดอะเวิลด์ต้องปิดตัวไปในที่สุด ส่วนคูลสันถูกตัดสินจำคุก 18 เดือนก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 21 พ.ย. หลังจากเข้าคุกไม่ถึง 5 เดือน

 

29 มิ.ย. : กลุ่มรัฐอิสลามผงาด - กลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและเลแวนต์ (ไอซิล) อันเป็นกลุ่มนิกายสุหนี่ที่มีแนวคิดสุดขั้วทั้งยังเป็นกลุ่มที่แตกออกมาจากเครือข่ายอัลกออิดะห์ ตกเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อเข้ายึดดินแดนจำนวนมากในอิรักกับซีเรีย ต่อมากลุ่มนี้ได้เปลี่ยนชือเป็น "รัฐอิสลาม" (ไอเอส) พร้อมตั้งอาบู บาการ์ แบกดาดีส เป็นกาหลิบ หรือผู้นำ กลุ่มไอเอสขึ้นชื่อเรื่องความเหี้ยมโหดเพราะเผยแพร่วีดิโอการตัดศีรษะตัวประกันชาวอเมริกันและอังกฤษ รวมถึงนายเจมส์ โฟลีย์ นักข่าวอเมริกัน และนายอลัน เฮนนิง เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ชาวอังกฤษ

 

8 ก.ค.: กาซากลายเป็นสนามรบ - กลุ่มฮามาสตกเป็นเป้าถูกกวาดล้างหลังจากวัยรุ่นอิสราเอล 3 คนถูกจับตัวไปและสังหาร ฮามาสโต้กลับด้วยการยิงจรวดจากฉนวนกาซาเข้าใส่อิสราเอลซึ่งรับมือด้วยการเปิดฉากโจมตีทางอากาศ ตามด้วยการส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปกวาดล้างกลุ่มฮามาส การตอบโต้กันไปมายืดเยื้อนาน 7 สัปดาห์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,200 ราย

 

13 ก.ค. : เยอรมนีคว้าแชมป์บอลโลก - มาริโอ เกิทเซ ได้รับการจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอลเยอรมนี ในฐานะผู้ที่ยิงประตูชัยให้เยอรมนีชนะอาร์เจนตินา 1-0 คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกไปครอง

 

ตั้งแต่ 15 ก.ค. : กระแส ICE BUCKET ระบาด - แม้เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ปี 2555 แต่การท้าทายด้วยการราดน้ำเย็นและน้ำแข็งลงบนศีรษะ หรือ Ice Bucket เพิ่งได้รับการกล่าวขานในปี 2557 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และคนดังที่รับคำท้ารวมถึงอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช (ในภาพ)

 

17 ก.ค. : สายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ตกที่ยูเครน - วิกฤติยูเครนยืดเยื้อต่อเนื่อง กองกำลังที่ภักดีต่อรัฐบาลสู้รบอย่างหนักหน่วงเพื่อทวงคืนพื้นที่ภาคตะวันออกจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซีย แล้วเที่ยวบินที่ 17 ของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลนส์ก็ตกลงใกล้เมืองทอเรซของยูเครน ขณะกำลังบินจากกรุงอัมสเตอร์ดัมไปกรุงกัวลาลัมเปอร์ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้ง 298 รายเสียชีวิต คณะสอบสวนหาสาเหตุการตกสรุปว่าเครื่องบินถูกยิงเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเครื่องบินทหาร แต่ยังมีการแกะรอยว่าเป็นฝีมือของใคร

 

22 ก.ค. : เจ้าชายจอร์จครบ 1 ขวบ-ดัชเชสแห่งเคมบริด์ทรงพระครรภ์ - เจ้าชายจอร์จ รัชทายาทลำดับที่ 3 แห่งบัลลังก์อังกฤษ มีพระชันษา 1 ปีเมื่อวันที่ 22 ก.ค. จากนั้นในวันที่  8 ก.ย. พระราชวังเคนซิงตันประกาศแถลงการณ์เรื่องน่ายินดี ว่าดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ในดยุคแห่งเคมบริดจ์ ทรงกำลังทรงพระครรภ์ 

 

7 ส.ค. : ตัดสินคดีอดีตแกนนำเขมรแดง - ศาลพิจารณาคดีอาชญากรรมสงครามซึ่งยูเอ็นให้การสนับสนุนในกัมพูชา ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตอดีตแกนนำเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่ 2 คน ได้แก่ เขียว สัมพัน กับนวน เจีย หลังจากวินิจฉัยว่าทั้งสองมีความผิดฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติเมื่อทศวรรษ 70 (ในภาพคือผู้สูญเสียญาติไปในช่วงที่เขมรแดงปกครองกัมพูชา ร้องไห้โฮหลังจากได้ยินคำพิพากษา)

 

ตั้งแต่ 8 ส.ค. : โจมตีเป้าหมายไอเอส - สหรัฐเริ่มโจมตีทางอากาศเข้าใส่เป้าหมายกลุ่มไอเอสในอิรัก หลังจากกลุ่มไอเอสรุกคืบมากขึ้น จากนั้นออสเตรเลีย อังกฤษ ฝรั่งเศส และแคนาดา ก็ส่งเครื่องบินเข้าร่วมการโจมตีทางอากาศ

 

ตั้งแต่ 9 ส.ค.: วัยรุ่นผิวสีถูกยิงเสียชีวิต-จลาจลเฟอร์กูสัน - การที่ตำรวจผิวขาวยิงไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวสีที่ปราศจากอาวุธ จนเสียชีวิตในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี จุดชนวนความตึงเครียดด้านเชื้อชาติในสหรัฐ และนำไปสู่เหตุจลาจล จากนั้นการประท้วงก็ลุกลามไปทั่ว 170 เมืองในสหรัฐเมื่อคณะลูกขุนตัดสินว่านายตำรวจดาร์เรน วิลสัน ไม่ต้องถูกตั้งข้อหาเพราะทำไปเพื่อป้องกันตัวเอง

 

ตั้ังแต่ 26 ก.ย. : การปฏิวัติร่ม - ผู้คนพากันออกไปชุมนุมตามท้องถนนในฮ่องกง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยผ่านการใช้แนวทางอารยะขัดขืน การเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่า "การปฏิวัติร่ม" และทำให้ย่านธุรกิจ-ชอปปิงของฮ่องกงเป็นอัมพาต การชุมนุมดำเนินไปอย่างสงบเป็นส่วนใหญ่แม้มีการปะทะกับตำรวจบ้าง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.เจ้าหน้าที่ได้เข้าเคลียร์จุดชุมนุมหลักย่านแอดมิรัลตีตามคำสั่งศาล

 

9 ก.ย. : แอ๊ปเปิ้ลเผยโฉมไอโฟน6 - ทิม คุก ซีอีโอบริษัทแอ๊ปเปิ้ล ขึ้นเวทีเปิดตัวไอโฟน 6 และไอโฟน 6 พลัส รวมถึงแอปเปิลวอทช์ ซึ่งบรรดาสาวกแอปเปิลทั่วโลกตั้งตารอ

 

18 ก.ย. : สกอตแลนด์โหวตไม่แยกตัว - ทั้งที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนและการรณรงค์กันอย่างดุเดือดจากทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านการแยกตัว ในที่สุดชาวสกอตก็ไปลงประชามติคัดค้านการแยกตัวเป็นอิสระจากอังกฤษ

 

19 ก.ย. : อาลีบาบาทำไอพีโอ - อาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตของจีน ระดมทุนได้มากเป็นประวัติการณ์ 25,000 ล้านดอลลาร์จากการนำหุ้นออกขายต่อสาธารณชน (ไอพีโอ) ที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก จนติดอันดับการทำไอพีโอครั้งใหญ่ที่สุดในโลก และทำให้แจค หม่า ประธานอาลีบาบา (ในภาพ) กลายเป็นผู้มั่งคั่งที่สุดในจีน ด้วยสินทรัพย์ส่วนตัวประมาณ 29,700 ล้านดอลลาร์

 

10 ต.ค. : มาลาลา ยูซาฟไซ คว้าโนเบล ตอนอายุ 17  - มาลาลา ยูซาฟไซ ชาวปากีสถาน (ในภาพ) ซึ่งถูกกลุ่มตาลีบันยิงที่ศีรษะเมื่อปี 2555 ฐานสนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิเรียนหนังสือ คว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกับไกลาช สัตยาธี นักเคลื่อนไหวชาวอินเดีย

 

22 ต.ค. : มือปืนโจมตีสภาแคนาดา - ไมเคิล เซฮาฟ-ไบโบ ชาวแคนาดา ยิงทหารเสียชีวิตขณะยืนรักษาการอยู่ที่อนุสาวรีย์สงครามแห่งชาติ จากนั้นได้บุกเข้าไปยังอาคารรัฐสภาที่อยู่ใกล้กันโดยมีตำรวจไล่ล่า และยิงจนมือปืนเสียชีวิต เหตุการณ์เกิดขึ้นไมาไกลนักจากจุดที่นายกรัฐมนตรีแคนาดากำลังประชุมกับบรรดาสมาชิกสภา

 

26 ต.ค. : ทหารสหรัฐ-อังกฤษถอนตัวอัฟกานิสถาน - ปฏิบัติการสู้รบในอัฟกานิสถานสำหรับทหารอังกฤษกับอเมริกัน ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการหลังจากดำเนินมา 13 ปี และมีการส่งมอบฐานทัพปฏิบัติการ 2 แห่งสุดท้ายในจังหวัดเฮลมานด์ให้แก่กองกำลังอัฟกานิสถาน

 

31 ต.ค. : ยานสเปซชิป 2 โหม่งโลก - ยานท่องเที่ยวอวกาศ 'สเปซชิป 2' ของเวอร์จินกาแลคติกโหม่งโลก หลังจากเครื่องยนต์ขัดข้องขณะบินทดสอบเหนือทะเลทรายโมฮาวี ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ทำให้นักบินเสียชีวิต 1 รายและบาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน (ในภาพคือยานสเปซชิป 2 ขณะแยกตัวออกจากเครื่องบินจากนั้นก็ระเบิด)

 

3 พ.ย. : เปิดตัวตึก"วันเวิลด์เทรดเซนเตอร์" - ผ่านมา 13 ปีหลังจากวินาศกรรม 11 ก.ย. 2544 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนอาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์ ได้มีการเปิดตัวตึกใหม่ความสูง 104 ชั้น "วันเวิลด์เทรดเซนเตอร์" (ในภาพ) ตึกนี้ใช้ทุนในการก่อสร้าง 3,900 ล้านดอลลาร์ ปัจจุบันมีผู้เข้าเช่าแล้ว 60%


9 พ.ย. : 25 ปีกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย - ชาวเยอรมนีฉลองวาระครบรอบ 25 ปีการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ซึ่งสร้างโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกเมื่อปี 2504 เพื่อป้องกันชาวเยอรมันตะวันออกหนีไปเยอรมนีตะวันตก กำแพงนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่ของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ (ในภาพคือมิกฮาอิล กอร์บาชอฟ อดีตผู้นำโซเวียต เข้าร่วมฉลองวาระนี้)


12 พ.ย. : ลงจอดบนดาวหางครั้งแรก - องค์การอวกาศยุโรปส่งยานฟีเลที่มีน้ำหนักประมาณ 100 กก. หรือใกล้เคียงกับเครื่องซักผ้า ออกปฏิบัติการภายใต้ภารกิจ โรเซตตา ด้วยการเดินทางข้ามระบบสุริยะ 10 ปี จนถึงดาวหาง 67พี จากนั้นยานฟิเลก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการลงจอดบนดาวหางดวงนี้ (ในภาพคือเจ้าหน้าที่พากันดีใจในวินาทีแรกที่ฟิเลสัมผัสพื้นผิวดาวหาง)

 

13-21 พ.ย. : พายุหิมะกระหน่ำสหรัฐ - สภาพอากาศที่แปรปรวนจากกระแสลมกรด (jet-stream) ทำให้กระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) เคลื่อนตัวลงมาทางใต้ปกคลุมสหรัฐ และทำให้ทั้ง 50 รัฐมีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หิมะที่ตกลงมา 3 วันมีปริมาณเท่ากับหิมะที่ตกมาทั้งปี ผู้คน 13 รายเสียชีวิตเพราะทนความหนาวเหน็บไม่ไหว อีก 11 รายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเกี่ยวเนื่องกับสภาพอากาศเลวร้าย

 

21 พ.ย. : เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย-"อาเบะ"ประกาศเลือกตั้ง - การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอ่อนแรงจนตกสู่ภาวะถดถอย ทำให้นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ประกาศยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด หวังว่าจะได้อาณัติจากประชาชนในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ได้รับการเรียกขานว่า "อาเบะโนมิกส์" พร้อมเลื่อนการขึ้นภาษีการขายระลอกที่ 2 ออกไป หลังจากการขึ้นภาษีการขายครั้งแรกเมื่อเดือนเม.ย.ถูกมองว่าเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจถดถอยและสุดท้าย

 

15 พ.ย. : เหตุการณ์จับตัวประกันที่ Lindt Chocolate Cafe (Martin Place - Sydney)
นายแมน ฮารอน โมนิส จับตัวประกันประมาณ 20 คนไว้ใน Lindt Chocolate Cafa ยาวนานประมาณ 16 ชั่วโมง และในที่สุดตำรวจบุกช่วยตัวประกันทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายรวมทั้งผู้ร้ายด้วย.

Manager M 2014-12-17 13:21:19 4880