2025-01-23

ออสเตรเลีย-จีนลงนาม “เอฟทีเอ” ฉบับประวัติศาสตร์ มุ่งทลายกำแพงภาษี-เปิดกว้างการค้า



 

 เอเอฟพี - รัฐบาลจีนและออสเตรเลียได้ร่วมลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ฉบับประวัติศาสตร์ซึ่งใช้เวลาเจรจากันนานถึง 10 ปีในวันที่ (17 มิ..) ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการสร้างตำแหน่งงานใหม่ ตลอดจนทลายกำแพงภาษีสินค้าหลากหลายประเภท


       

แอนดรูว์ ร็อบบ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ออสเตรเลีย และเกา หูเฉิง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของจีน จรดปลายปากกาลงบนหนังสือสัญญาในพิธีลงนามซึ่งจัดขึ้นที่กรุงแคนเบอร์รา ซึ่งถือเป็นความสำเร็จงดงามของการเจรจาซึ่งกินเวลายืดเยื้อมานานหลายปี

       

เกาแถลงว่า “ผู้นำของเราทั้งสองประเทศให้ความสำคัญอย่างมากกับข้อตกลงฉบับนี้... เพราะถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งในความสัมพันธ์ทวิภาคี” ระหว่างจีนและออสเตรเลีย

       

ด้านนายกรัฐมนตรี โทนี แอ็บบอตต์ แห่งแดนจิงโจ้ก็ยกให้วันนี้เป็น “วันที่น่าจดจำในประวัติศาสตร์ของเราทั้งสองประเทศ”

       

“ประเทศของเราจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ภูมิภาคนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และโลกที่เราอยู่ก็จะดีขึ้นด้วย... ข้อตกลงฉบับนี้จะช่วยยกระดับความสามารถในการเข้าถึงตลาดของกันและกัน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

       

จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของออสเตรเลีย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 160,000 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในแต่ละปี

       

ภายใต้เงื่อนไขของเอฟทีเอฉบับนี้ สินค้ากว่า 85% ที่ออสเตรเลียส่งเข้าไปขายยังจีนจะได้รับการยกเว้นภาษี และจะทยอยเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 95% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

       

กรุงแคนเบอร์รามีสัญญาการค้าลักษณะเดียวกันนี้กับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่า ในอีกไม่ช้าสินค้าส่งออกของออสเตรเลียส่วนใหญ่จะปลอดภาษีอากร (tariff-free)

       

ปัจจุบันบริษัทออสเตรเลียต้องเสียภาษีสูงสุด 40% ในการนำเข้าสินค้าไปยังจีน ทว่าภายใต้ข้อตกลงใหม่ ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของแดนจิงโจ้ และถือเป็นหัวใจหลักในความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างทั้ง 2 ชาติ จะไม่ถูกเก็บภาษีอีก

       

สินค้าประเภทไวน์ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลีย ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน เพื่อตอบสนองการบริโภคของชนชั้นกลางในจีนที่เพิ่มจำนวนขึ้น

       

รัฐบาลออสเตรเลียตอบแทนจีนด้วยการยกเลิกภาษีนำเข้า 5% สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ในครัวเรือนขนาดใหญ่ เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ฯลฯ ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคชาวออสเตรเลียจะสามารถซื้อสินค้าจีนได้ในราคาที่ถูกลง โดยรัฐยอมเป็นฝ่ายสูญเสียรายได้ 

 

 

จีนยังมีสิทธิ์ได้รับสัมปทานการลงทุนต่างชาติ โดยรัฐบาลออสเตรเลียจะยกเลิกมาตรการคัดกรองในหลายภาคส่วน เว้นแต่ในด้านที่ดินสำหรับทำเกษตรกรรม และธุรกิจการเกษตร

       

กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ข้อตกลงการค้ากับแคนเบอร์ราจะยิ่งเป็นผลดีต่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่จีนหวังผลักดันขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ดึงจีนเข้าร่วมด้วย

       

ด้านรัฐมนตรี ร็อบบ์ชี้ว่า เอฟทีเอที่ทำกับจีนในวันที่ (17) เมื่อผนวกกับข้อตกลงที่เคยทำร่วมกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะเป็นหลักประกันความเจริญรุ่งเรืองให้แก่เศรษฐกิจแดนจิงโจ้ไปตลอดหลายปีข้างหน้า

       

อย่างไรก็ดี ผลพวงอย่างหนึ่งซึ่งกำลังก่อกระแสคัดค้านจากสหภาพแรงงานก็คือ โอกาสที่แรงงานจีนจะเข้ามาแย่งตำแหน่งงานของชาวออสซี่ซึ่งมีค่าตอบแทนสูงกว่า

       

แอลเลน ฮิกส์ เลขาธิการสหภาพแรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เตือนว่า นักลงทุนจีนที่เข้ามาประกอบกิจการในออสเตรเลียอาจเลือกใช้แรงงานชาวจีน แทนที่จะประกาศรับสมัครแรงงานท้องถิ่นซึ่งมีค่าแรงแพงกว่า

       

“ผลประโยชน์ที่อ้างว่าจะได้จากข้อตกลงฉบับนี้ เทียบไม่ได้เลยกับโอกาสที่แรงงานชาวออสเตรเลียต้องเสียไป รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมของเรา... มันเป็นข้อตกลงที่น่าอับอาย และเป็นอีกวันที่น่าเศร้าซึ่งประวัติศาสตร์ออสเตรเลียต้องจารึกไว้”

       

อย่างไรก็ดี สภาธุรกิจออสเตรเลีย-จีนยังยืนยันถึงโอกาสอันมหาศาล เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังปรับไปสู่ทิศทางการเติบโตแบบเน้นบริโภค (consumption-driven growth) ซึ่งหมายความว่า สินค้าและบริการระดับพรีเมียมจากออสเตรเลียจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในจีน

  

“ข้อตกลงฉบับนี้จะทำให้ภาคธุรกิจออสเตรเลียสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ที่มีเอฟทีเออยู่แล้ว และจะช่วยให้เราได้ผลประโยชน์เหนือคู่แข่งรายใหญ่ๆ รวมถึงสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา” จอห์น บรัมบี ประธานสภาธุรกิจออสเตรเลีย-จีน ให้สัมภาษณ์ 

 

 

ที่มาข้อมูลจาก เวปผู้จัดการออนไลน์

Natui Website 2015-06-19 01:43:21 3380