2025-01-23

เตือนภัยคุกคามจากเชื้อ 'เอช 58 - ไทฟอยด์ดื้อยา'



เตือนภัยคุกคามจากเชื้อ 'เอช 58 - ไทฟอยด์ดื้อยา' ทีมนักวิทยาศาสตร์เตือนภัยเฝ้าระวังการใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับโรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย หลังพบเชื้อไทฟอยด์ดื้อยาหลายขนาน หรือสายพันธุ์ 'เอช 58' ระบาดในหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชียและแอฟริกา


เว็บไซต์ข่าวบีบีซี ประเทศอังกฤษ รายงานเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ว่า ทีมนักวิจัยจากองค์กรเวลคัม ทรัสต์ องค์กรการกุศลจากอังกฤษ เผยแพร่ผลงานในวารสารวิทยาศาสตร์ เนเจอร์ เจเนติกส์ เรื่องภัยคุกคามจากการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคไข้ไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อย ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขทั่วโลก ทำให้แพทย์ต้องหันไปพึ่งยาชนิดอื่นที่มีราคาแพงและเข้าถึงได้ยากกว่า

โรคไข้รากสาดน้อย มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา ไทฟี รายงานระบุว่า ในหลายประเทศของทวีปแอฟริกาและเอเชีย พบเชื้อสายพันธุ์ที่ดื้อยาหลายขนาน คือสายพันธุ์ 'เอช 58' ซึ่งเข้ามาแทนที่เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลาแบบเดิม

จากการวิเคราะห์ตัวอย่างแบคทีเรียใน 63 ประเทศทั่วโลก พบว่า มีมากถึง 21 ประเทศที่เป็นไข้รากสาดน้อยสายพันธุ์เอช 58 ดร.แคธริน โฮลต์ จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลีย หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า เชื้อเหล่านี้กำลังแข็งแกร่งขึ้น

การเกิดเชื้อไทฟอยด์ที่ดื้อยาหลายขนานมีมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษปี 1970 จากการที่เชื้อแบคทีเรียพัฒนาการยีนที่มีความต้านทานต่อยาปฏิชีวนะขึ้นมา ซึ่งเชื้อนี้จะถูกปราบได้โดยยาที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่เอช 58 นั้นต่างออกไป เพราะมันมีลักษณะยีนที่เสถียรมากขึ้น ซึ่งหมายความว่ามันจะคงอยู่ได้นานกว่าเชื้อดื้อยาอื่นที่ผ่านมา จากสถานการณ์ปัจจุบันที่การรุกคืบของเอช 58 กระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก จึงจำเป็นต้องอาศัยความตระหนักและความร่วมมือของประชาคมโลก

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ราว 200,000 คน ขณะที่ประชากรโลกราว 1 ใน 3 มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งผ่านจากคนสู่คน ผ่านทางน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระหรือปัสสาวะที่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ โดยการเพิ่มการดูแลสุขอนามัย นับเป็นวิธีง่ายๆ ที่ใช้ได้ผลดี แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้ แต่มันก็ไม่แพร่หลายและไม่สามารถรับประกันได้ 100 เปอร์เซนต์

ด้านโฆษกหญิงขององค์การอนามัยโลก (ฮู) กล่าวว่า การควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ เช่นเดียวกับการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และระบุตัวเชื้อดื้อยา จำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบและวิธีดำเนินการ เพื่อระบุพื้นที่ที่มีความรุนแรงที่สุดและเพิ่มมาตรการป้องกันและควบคุม

ที่มา: http://www.bbc.com/news/health-32687312“

 

 

Natui Website 2015-05-12 10:55:09 4308