2024-12-23

เมื่อสหรัฐเพลี่ยงพล้ำให้จีนก่อน ในเกมการเงิน



ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย หรือเอไอไอบี ไม่ใช่เรื่อง "ไกลตัว" ที่สหรัฐเคยมองว่าเป็นได้แค่ "ความฝัน" ของจีนอีกต่อไป


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่าเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว แผนการของรัฐบาลจีนในการจัดตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศขนาดใหญ่ เพื่อเป็น "ทางเลือกใหม่" ทางเศรษฐกิจให้กับนานาประเทศ นอกเหนือจากการมีอยู่ของธนาคารโลก ( เวิลด์แบงก์ ) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( ไอเอ็มเอฟ ) ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลเกินฝันและไม่น่าเป็นรูปเป็นร่างได้เร็วนัก ในสายตาของสหรัฐ

ทั้งนี้ การรวบรวมทุนและเพิ่มจำนวนสมาชิกของธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย ( เอไอไอบี ) เมื่อช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 มีเพียง 20 ประเทศเท่านั้นที่ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ ( เอ็มโอยู ) กับรัฐบาลปักกิ่ง และล้วนเป็นประเทศในเอเชียทั้งสิ้น โดยสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( อาเซียน ) เข้าร่วมเป็นสมาชิกครบทั้ง 10 ประเทศ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐแม้ไม่แสดงท่าทีอย่างชัดเจน แต่บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม "ความวิตกกังวล" ของรัฐบาลสหรัฐมีอันต้องเพิ่มขึ้นทวีคูณ เมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ เรื่องการเข้าร่วมทุนกับเอไอไอบี เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ ก่อให้เกิดกระแส "เอไอไอบี ฟีเวอร์" ขึ้นมาทันทีในยุโรป เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอีกหลายประเทศแสดงความสนใจและยื่นเอกสารสมัครอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งตอบรับเอกสารของประเทศนอกเอเชียแล้ว 4 ประเทศ ได้แก่อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และนิวซีแลนด์

การที่จีนไม่มีบทบาทและอิทธิพลมากนักบนเวทีเวิลด์แบงก์ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารพัฒนาเอเชีย ( เอดีบี ) ที่มีญี่ปุ่นเป็นหัวเรือใหญ่ด้วยการดำรงตำแหน่งประธาน คือภาวะที่หลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลปักกิ่งต้องการก่อตั้งสถาบันการเงินระดับสากลด้วยตัวเอง ขณะที่รัฐบาลสหรัฐยังคงแสดงข้อกังขา และวิ่งเต้นอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ ไม่ให้ประเทศพันธมิตรของตัวเองสมัครเข้าร่วมทุนกับเอไอไอบี กระนั้นออสเตรเลีย เกาหลีใต้และไต้หวันประกาศแสดงความสนใจและยื่นเอกสารสมัครเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แน่นอนเอไอไอบีไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เป็นการ "พลิกโฉม" เศรษฐกิจโลกได้ภายในชั่วข้ามคืน ด้วยวงเงินลงทุนที่เบื้องต้นยังมีเพียง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.65 ล้านล้านบาท ) ซึ่งเมื่อเทียบกับเวิลด์แบงก์แล้วคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ส่วนของวงเงินลงทุนที่เวิลด์แบงก์มีอยู่เท่านั้น แต่บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า การถือกำเนิดของเอไอไอบีจะเข้ามา "เติมเต็ม" โครงสร้างของสถาบันการเงิน และถ่วงดุลอำนาจของระบบเศรษฐกิจในระดับพหุภาคีได้ในไม่ช้า

 

 ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักพิมพ์เดลินิวส์

 

Natui Website 2015-04-01 11:08:45 1876